วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

พระอภัยมณี


พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๒๓๖๖ และแต่งๆ หยุดๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. ๒๓๘๘ รวมเวลามากกว่า ๒๐ ปี
เนื้อเรื่องของ พระอภัยมณี ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครพระอภัยมณี นับแต่อายุได้ ๑๕ ปีและออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีไทยอื่นๆ แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามา มิใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ การเป่าปี่ ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น เขากับน้องชายคือ ศรีสุวรรณ ระเหเร่ร่อนไปจนเจอกับสามพราหมณ์ ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป มีบุตรชายชื่อสินสมุทร พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยังเกาะแก้วพิสดาร เขามีบุตรกับอมนุษย์อีกครั้งคือกับนางเงือก ได้บุตรชายชื่อสุดสาคร ต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือนางสุวรรณมาลี แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้เมื่อ นางละเวงวัณฬา ลูกสาวเจ้ากรุงลังกาซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสาวสวย ตกหลุมรักกับพระอภัยมณีเสียเอง หลังสงคราม พระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีกับนางละเวงออกบวชด้วย เรื่องราวในช่วงหลังของ พระอภัยมณี เป็นการผจญภัยของรุ่นลูกๆ ของพระอภัยมณี โดยมีสุดสาครกับนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวของสุดสาครโดยเฉพาะในช่วง กำเนิดสุดสาคร (พระอภัยมณี ตอนที่ ๒๔-๒๕) นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากอีกชุดหนึ่ง
พระอภัยมณี จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องของพระอภัยมณีแหวกประเพณีของวรรณคดีในยุคเก่า มีจินตนาการล้ำยุคอยู่มากมาย และมีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง ความเป็นนักคิดยุคใหม่ของผู้ประพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี นักวิชาการจำนวนมากพากันศึกษากลอนนิทาน พระอภัยมณี เพื่อค้นคว้าหาแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงแนวคิดของสุนทรภู่กับวรรณกรรมโบราณ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุคใหม่ของบรรดานักเดินเรือที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคการค้าสำเภา นอกจากนี้ แนวคิดที่สุนทรภู่สอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมาก เพราะผู้คนล้วนใช้บทกลอนเหล่านั้นเป็นคติสอนใจ เช่น บทกลอนในช่วงที่พระฤๅษีสอนสุดสาคร เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ พระอภัยมณี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยโรงพิมพ์ของหมอสมิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมของเรื่องมีมากขนาดที่หมอสมิทสามารถจำหน่ายนิทานคำกลอนเรื่องนี้ขายดิบขายดีจนมีเงินสร้างตึกได้ ในยุคต่อมา มีการดัดแปลงและถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นนี้ออกไปในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องเล่าร้อยแก้ว การ์ตูน รวมทั้งภาพยนตร์ และละคร บทกลอนหลายช่วงในเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในแบบการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคติสอนใจที่ผู้คนทั่วไปจดจำกันได้

ประวัติ

ไม่มีที่ใดบันทึกไว้ชัดเจนว่า สุนทรภู่เริ่มแต่ง พระอภัยมณี ขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการพิเคราะห์สำนวนกลอนและการกล่าวอ้างถึงในผลงานชิ้นอื่นๆ ของสุนทรภู่ นักวิชาการคาดว่าสุนทรภู่น่าจะเริ่มแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อคราวต้องโทษติดคุก (คาดว่าประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๓๖๖) โดยค่อยแต่งทีละเล่มสองเล่มเรื่อยไป และยังแต่งๆ หยุดๆ เป็นหลายครั้ง ในตอนแรกเขียนจบไว้ที่ ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีรับสั่งให้แต่งต่อ ในที่สุดจึงได้ความยาวถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย ทว่านักวรรณคดีบางท่านเสนอความเห็น ว่าในเล่มหลังๆ อาจไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่เพียงคนเดียว คาดว่าสุนทรภู่หยุดแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๘๘ หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ใช้เวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้นมากกว่า ๒๐ ปี


ลักษณะคำประพันธ์


คำประพันธ์ในเรื่อง พระอภัยมณี เป็นกลอนสุภาพทั้งหมด ด้วยเป็นความถนัดอย่างพิเศษของกวีผู้นี้ ภาษาที่ใช้มีความเรียบง่ายตามแบบฉบับของสุนทรภู่ มีสัมผัสในไพเราะงดงามโดยตลอด ทำให้เป็นที่นิยมอ่านเรื่อยมาแม้ในปัจจุบัน
พระอภัยมณี ตามฉบับพิมพ์ของหอพระสมุด มีความยาวทั้งสิ้น 24,500 คำกลอน คิดเป็นจำนวนคำตามวจีวิภาคได้ 392,000 คำ[3] นับเป็นหนังสือกลอนขนาดมหึมา มีโครงเรื่องย่อยๆ แทรกไปตลอดทาง คือจากเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่เหตุและผลอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะงานเขียนที่สามารถเขียนไปได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ดีอาจนับเหตุการณ์สำคัญหรือไคลแมกซ์ของเรื่องได้ ในตอนทัพลังกากับทัพพระอภัยมณีรบกันจนถึงขั้นเด็ดขาด ต้องแหลกลาญกันไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่สุนทรภู่ก็สามารถคลี่คลายไคลแมกซ์นี้ได้อย่างสวยงาม
เรื่อง พระอภัยมณี แบ่งบทประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 64 ตอน มีชื่อตอนดังต่อไปนี้
  1. พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
  2. นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
  3. ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
  4. ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
  5. ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
  6. ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
  7. ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
  8. อภิเษกศรีสุวรรณ
  9. พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
  10. พระอภัยมณีได้นางเงือก
  11. นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
  12. พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
  13. พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
  14. พระอภัยมณีเรือแตก
  15. สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
  16. สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
  1. ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
  2. พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
  3. พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
  4. สินสมุทรรบกับอุศเรน
  5. พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
  6. พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
  7. พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
  8. กำเนิดสุดสาคร
  9. สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
  10. อุศเรนตีเมืองผลึก
  11. เจ้าละมานตีเมืองผลึก
  12. สุดสาครตามพระอภัยมณี
  13. ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
  14. พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
  15. พระอภัยมณีพบนางละเวง
  16. ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
  1. ย่องตอดสะกดทัพ
  2. นางละเวงคิดหย่าทัพ
  3. พระอภัยมณีติดท้ายรถ
  4. พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
  5. ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกทำเสน่ห์
  6. นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
  7. นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
  8. สุดสาครถูกเสน่ห์
  9. นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
  10. หัสไชยแก้เสน่ห์
  11. นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
  12. กษัตริย์สามัคคี
  13. นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
  14. พระอภัยมณีกลับเมือง
  15. อภิเษกสินสมุทร
  16. นางเสาวคนธ์หนี
  1. นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
  2. นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
  3. สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
  4. พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
  5. มังคลาครองเมืองลังกา
  6. มังคลาชิงโคตรเพชร
  7. มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
  8. หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
  9. สุดสาครรบกับมังคลา
  10. นางละเวงช่วยนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
  11. พระอภัยมณี ศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
  12. พระอภัยมณีรบกับมังคลา
  13. สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
  14. พระอภัยมณีเข้าเมืองลังกา
  15. อภิเษกหัสไชย
  16. พระอภัยมณีออกบวช
หลังเหตุการณ์พระอภัยมณีออกบวช มีผู้แต่งเรื่องต่อออกไปอีก เช่น นางเงือกได้ตัดหางและกลายเป็นมนุษย์ แต่นั่นไม่ใช่งานประพันธ์ของสุนทรภู่ ในฉบับพิมพ์ของหอพระสมุดจึงย่อเนื้อหาส่วนหลังเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วบรรจุไว้ท้ายเล่ม

กาพย์

กาพย์ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับจำนวนคำและสัมผัส จัดวรรคต่างจากกลอนและไม่บังคับเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค ไม่มีบังคับเอก-โทเหมือนโคลง และไม่มีบังคับครุและลหุเหมือนฉันท์

ความเป็นมาของกาพย์


าพย์ มีที่มาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นคำประพันธ์เดิมของไทย หรือรับมาจากชาติอื่น ตำรากาพย์เก่าแก่ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ กาพย์สารวิลาสินี และ กาพย์คันธะ แต่งเป็นภาษาบาลี ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง แต่สันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และเปลี่ยนแปลงมาจากกาพย์มคธเป็นกาพย์ไทยโดยบริบูรณ์ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

การจำแนกชนิดของกาพย์

กาพย์ในคัมภีร์กาพย์

ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและกาพย์คันถะ กำหนดคำประพันธ์ชนิด กาพย์ ไว้ ๘ ชนิด คือ กาพย์พรหมคีติ กาพย์มัณฑุกคติ กาพย์ตุรงคธาวี กาพย์มหาตุรงคธาวี กาพย์กากคติ ในกาพย์สารวิลาสินี และกาพย์ตรังควชิราวดีหรือกาพย์ตรังคนที กาพย์มหาตรังคนที และกาพย์ทัณฑิกา ในกาพย์คันถะ
นอกจากนี้ใน ประชุมลำนำ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ได้แสดงกาพย์อีกชนิดหนึ่งชื่อ กาพย์ภุชงคลิลา มาจากคัมภีร์กาพย์สารจินดา

กาพย์ที่นิยมแต่งกันทั่วไป

กาพย์ที่กวีนิยมใช้ในวรรณกรรม มี 3 ชนิด คือ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และ กาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกว่ากาพย์ดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในตำรากาพย์เลย นอกจากนี้ กาพย์ทั้ง 9 ชนิดในตำรากาพย์ก็ไม่ปรากฏในวรรณกรรมเช่นกัน

กาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

  • พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงประดิษฐ์กาพย์ขึ้นใหม่เพื่ออธิบายประกอบภาพเรื่อง ศรีธนญชัย ฝีมือวาดภาพของ เหม เวชกร เรียกว่า กาพย์ธนัญชยางค์ ซึ่งทรงประทานคำอธิบายว่าคือ กาพย์สุรางค์คนางค์ ๒๘ เดิมนั่นเอง เพียงแต่เพิ่มเติมอีก 4 คำและเพิ่มสัมผัส กาพย์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒
  • ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้ประดิษฐ์กาพย์ใหม่ใน เพื่อนแก้วคำกาพย์ ชื่อ กาพย์ดอกแคร่วง โดยดัดแปลงจาก เพลงเหย่ย หรือ เพลงดอกแคร่วง
  • ในสมุดไทยเรื่อง หอยสังข์ ปรากฏ กาพย์นางกราย ๒๓ ซึ่งเป็นกาพย์ผสมระหว่ง กาพย์สุรางคนางค์ และกาพย์ยานี เป็นกาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

การใช้กาพย์ในวรรณกรรม

วรรณกรรมที่แต่งด้วยกาพย์เพียงอย่างเดียว

  • กลอนสวด เป็นวรรณกรรมที่แต่งด้วย กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ สลับกันไปตลอดเรื่อง เช่น สังข์ศิลป์ชัย พระรถเมรี สุบินกุมาร พระมาลัย พระไชยสุริยา พระสุธนมโนห์รา ฯลฯ
  • กาพย์เห่กล่อมพระบรรทม ใช้ขับร้องเห่กล่อมพระราชโอรสและพระราชธิดา มีลักษณะเป็นกาพย์ยานี แต่วรรคหลังบางวรรคอยู่ระหว่าง ๕ - ๗ คำ

วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งร่วมกันคำประพันธ์ประเภทอื่น

  • กาพย์แต่งร่วมกับโคลง กวีใช้ กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์ แต่งร่วมกับโคลงสี่สุภาพ แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ และกาพย์ขับไม้ห่อโคลง
  • กาพย์แต่งร่วมกับฉันท์ กวีใช้ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ แต่งร่วมกับฉันท์มาตั้งแต่โบราณ และเรียกวรรณกรรมนั้นว่า คำฉันท์ วรรณกรรมคำฉันท์ที่เก่าที่สุดอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ และฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ส่วนตัวอย่างฉันท์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้แก่ อิลราชคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น
  • กาพย์แต่งร่วมกับร่าย กวีนำเอากาพย์ยานีและกาพย์ฉบังมาแต่งสลับกับร่ายยาวเป็นบทสำหรับพากย์หนังใหญ่ และพากย์โขน โดยใช้กาพย์เป็นบทพากย์ และใช้ร่ายเป็นบทเจรจา เรียกว่าวรรณกรรม คำพากย์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งแทรก

  • คำหลวง วรรณกรรมคำหลวงของไทยมี ๕ เรื่องได้แก่ มหาชาติคำหลวง พระมาลัยคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนลคำหลวง และลิลิตคำหลวง ซึ่งนักปราชญ์ราชกวีได้ร่วมกันรจนาขึ้น จึงมักบรรจุคำประพันธ์ทุกชนิดในวรรณกรรมคำหลวง รวมทั้งกาพย์ด้วย
  • กวีวัจนะ เป็นชื่อเรียกพระนิพนธ์เรื่อง สามกรุง ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีลักษณะการนำเอาฉันทลักษณ์ไทยทุกชนิดมาแต่งรวมกัน
กวีผู้ชำนาญเชิงกาพย์

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

กวีที่ได้รับยกย่องว่าสร้างสรรค์ผลงานด้านกาพย์มากที่สุดคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง กรมพระราชวังบวรฯ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ งานพระราชนิพนธ์มี ๘ เรื่อง คือ กาพย์เห่เรือ ๔ บท กาพย์เห่เรื่องกากี ๓ ตอน กาพย์เห่สังวาสและเห่ครวญ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง นันโทปสันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง และเพลงยาว ในบรรดาพระราชนิพนธ์เหล่านี้ ทรงใช้กาพย์เป็นหลักถึง ๕ เรื่อง
กาพย์ที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงใช้มีเพียงชนิดเดียวคือ กาพย์ยานี ๑๑ ซึ่งทรงเลือกใช้คำได้อย่างเด่น ทำให้เกิดความไพเราะ เสนาะหู ชวนฟัง นอกจากนี้ยังทรงเพิ่มสัมผัสสระในคำที่ ๒ - ๓ ของวรรคแรก และคำที่ ๓ - ๔ ของวรรคหลังอย่างเป็นระบบทำให้เกิดจังหวะอ่านรับกันและเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้น
ตัวอย่างลีลากาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
งามทรงวงดั่งวาดงามมารยาทนาดกรกราย
งามพริ้มยิ้มแย้มพรายงามคำหวานลานใจถวิล
แต่เช้าเท่าถึงเย็นกล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ
ชายใดในแผ่นดินไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ
 กาพย์เห่สังวาส

 

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

ฉันทลักษณ์ไทย

ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ว่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์ และได้ให้ความหมายของ คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือ ร้อยกรองไทย นั่นเอง
ร้อยกรองไทยมีความหมาย 2 นัย นัยหนึ่งหมายถึงการแต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ อีกนัยหนึ่งหมายถึงถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบทบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น กวีนิพนธ์ บทกวี บทประพันธ์ กวีวัจนะ ลำนำ บทกลอน กาพย์กลอน กลอนกานต์ กานต์ รวมทั้งคำว่าฉันท์ กาพย์และกลอนด้วย บทความนี้มุ่งให้ความรู้เรื่องลักษณะบังคับของร้อยกรองไทยเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจคำประพันธ์ไทยต่อไป

ตำราฉันทลักษณ์ไทย
ตำราแต่งร้อยกรองไทยที่ถือเป็นตำราหลักเท่าที่ปรากฏต้นฉบับในปัจจุบัน มีอยู่ 7 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นตำราแต่งกวีนิพนธ์แบบฉบับ ได้แก่

  1. จินดามณี
  2. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน
  3. ชุมนุมตำรากลอน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
  4. ประชุมลำนำ ของ หลวงธรรมาภิมณฑ์
  5. ฉันทศาสตร์ ของ นายฉันท์ ขำวิไล
  6. ฉันทลักษณ์ ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร
  7. คัมภีร์สุโพธาลังการ แปลโดย น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง
การแบ่งฉันทลักษณ์
สุภาพร มากแจ้ง ได้วิเคราะห์ฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยไว้อย่างละเอียดใน กวีนิพนธ์ไทย
ซึ่งกล่าวว่าการแบ่งฉันทลักษณ์อย่างแคบและนิยมใช้อยู่ทั่วไปจะได้ 5 ชนิดใหญ่ ๆ แต่หากรวมคำประพันธ์ท้องถิ่นเข้าไปด้วยจะได้ 10 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่
  1. โคลง
  2. ฉันท์
  3. กาพย์
  4. กลอน
  5. ร่าย
  6. กานต์
  7. ค่าว
  8. กาพย์ (เหนือ)
  9. กาบ (อีสาน)
  10. กอน (อีสาน)
คำประพันธ์ทั้ง 10 ชนิดนี้ ถ้านำมาแบ่งตามลักษณะบังคับร่วมจะได้ 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 ไม่บังคับวรรณยุกต์ ได้แก่ ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย และกานต์
กลุ่มที่ 2 บังคับวรรณยุกต์ ได้แก่ โคลง กอน (อีสาน) กาบ (อีสาน) กาพย์ (เหนือ) และค่าว

ลักษณะบังคับ
หมายถึง ลักษณะบังคับที่มีในคำประพันธ์ไทย ได้แก่
  1. ครุ ลหุ
  2. เอก โท
  3. คณะ
  4. พยางค์
  5. สัมผัส
  6. คำเป็น คำตาย
  7. คำนำ
  8. คำสร้อย

ครุ ลหุ

  • ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) และ สระเกินทั้ง 4 คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น ตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
  • ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วย สระสั้น (รัสสระ) ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ

เอก โท

  • เอก คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก และบรรดาคำตายทั้งสิ้น ซึ่งในโคลง และร่าย ใช้เอกแทนได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ ปู่ ชิ ชะ มัก มาก ฯลฯ
  • โท คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท เช่น น้า ป้า ช้าง นี้น้อง ต้อง เลี้ยว ฯลฯ

คณะ

  • คณะ กล่าวโดยทั่วไปคือแบบบังคับที่วางเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า คำประพันธ์ชนิดนั้น จะต้องมีเท่านั้นวรรค เท่านั้นคำ และต้องมีเอกโท ครุลหุตรงนั้นตรงนี้
  • แต่สำหรับใน ฉันท์ คำว่า คณะ มีความหมายแคบ คือหมายถึง ลักษณะที่วางคำเสียงหนัก เสียงเบา ที่เรียกว่า ครุ ลหุ และแบ่งออกเป็น 8 คณะ คณะหนึ่งมีคำอยู่ 3 คำ เรียง ครุ ลหุ ไว้ต่างๆ กัน
คณะทั้ง 8 นั้น คือ ย ร ต ภ ช ส ม น ชื่อคณะทั้ง 8 นี้ เป็นอักษรที่ย่อมาจากคำเต็ม คือ
ย มาจาก ยชมาน แปลว่า พราหมณ์บูชายัญ
ร มาจาก รวิ แปลว่า พระอาทิตย์
ต มาจาก โตย แปลว่า น้ำ
ภ มาจาก ภูมิ แปลว่า ดิน
ช มาจาก ชลน แปลว่า ไฟ
ส มาจาก โสม แปลว่า พระจันทร์
ม มาจาก มารุต แปลว่า ลม
น มาจาก นภ แปลว่า ฟ้า
กำชัย[1] ได้แต่งคำคล้องจองไว้สำหรับจำ คณะ ไว้ดังนี้
ย ยะยิ้มยวน
ร รวนฤดี
ส สุรภี
ภ ภัสสระ
ช ชโลมและ
น แนะเกะกะ
ต ตาไปละ
ม มาดีดี
เมื่อแยกพยางค์แล้ว จะได้ ครุ-ลหุ เต็มตามคณะทั้ง 8 (ชื่อคณะนี้ ไม่สู้จำเป็นในการเรียนฉันทลักษณ์ไทยนัก เพราะมุ่งจำครุ-ลหุกันมากกว่าจำชื่อคณะ เท่าที่จัดมาให้ดูเพื่อประดับความรู้เท่านั้น)

พยางค์

พยางค์ คือจังหวะเสียง ที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ หรือหน่วยเสียง ที่ประกอบด้วยสระตัวเดียว จะมีความหมาย หรือไม่ก็ตาม คำที่ใช้บรรจุในบทร้อยกรองต่างๆ นั้น ล้วนหมายถึง คำพยางค์ ทั้งสิ้น คำพยางค์นี้ ถ้ามีเสียงเป็น ลหุ จะรวม 2 พยางค์ เป็นคำหนึ่ง หรือหน่วยหนึ่ง ในการแต่งร้อยกรองก็ได้ แต่ถ้ามี เสียงเป็น ครุ จะรวมกันไม่ได้ ต้องใช้พยางค์ละคำ

สัมผัส

สัมผัส คือลักษณะที่บังคับให้ใช้คำคล้องจองกัน คำที่คล้องจองกันนั้น หมายถึง คำที่ใช้สระ และมาตราสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต้องไม่ซ้ำอักษร หรือซ้ำเสียงกัน (สระใอ, ไอ อนุญาตให้ใช้สัมผัสกับ อัย ได้) มี 2 ชนิด คือ สัมผัสนอกและสัมผัสใน
1. สัมผัสนอก ได้แก่คำที่บังคับให้คล้องจองกัน ในระหว่างวรรคหนึ่ง กับอีกวรรคหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งที่ต่างๆ กัน ตามชนิดของคำประพันธ์นั้นๆ สัมผัสนอกนี้ เป็นสัมผัสบังคับ ซึ่งจำเป็นต้องมี จะขาดไม่ได้ ดังตัวอย่าง ที่โยงเส้นไว้ให้ดู เช่น
โคลง
แท้ไทยใช่เผ่าผู้แผ่มหิทธิ์
รักสงบระงับจิตประจักษ์แจ้ง
ไป่รานไป่รุกคิดคดประทุษ ใครเลย
เว้นแต่ชาติใดแกล้งกลั่นร้ายรานไทย
กลอน
มิใช่ชายดอกนะจะดีเลิศหญิงประเสริฐเลิศดีก็มีถม
ชายเป็นปราชญ์หญิงฉลาดหลักแหลมคมมีให้ชมทั่วไปในธาตรี
2. สัมผัสใน ได้แก่ คำที่คล้องจองกัน และอยู่ในวรรคเดียวกัน จะเป็นสัมผัสคู่ เรียงคำไว้ติดต่อกัน หรือจะเป็นสัมผัสสลับ คือเรียงคำอื่น แทรกคั่นไว้ ระหว่างคำที่สัมผัสก็ได้สุดแต่จะเหมาะ ทั้งไม่มีกฎเกณฑ์จำกัดว่า จะต้องมีอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ เหมือนอย่างสัมผัสนอก และไม่จำเป็น จะต้องใช้สระอย่างเดียวกันด้วย เพียงแต่ให้อักษรเหมือนกัน หรือเป็นอักษรประเภทเดียวกัน หรืออักษรที่มีเสียงคู่กัน ก็ใช้ได้ สัมผัสใน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สัมผัสสระและสัมผัสอักษร
2.1 สัมผัสสระ ได้แก่คำคล้องจองที่มีสระและมาตราสะกดอย่างเดียวกัน เช่น
บางน้ำจืดชื่อบางเป็นทางคิดใครมีจิตจืดนักมักหมองหมาง
คนใจจืดชืดชื้อเหมือนชื่อบางควรตีห่างเหินกันจนวันตาย
อันน้ำจืดรสสนิทกว่าจิตมืดถึงเย็นชืดลิ้มรสหมดกระหาย
แต่ใจจืดรสระทมขมมิวายมักทำลายมิตรภาพให้ราบเตียน
จาก นิราศวัดสิงห์
2.2 สัมผัสอักษร ได้แก่ คำคล้องจองที่ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน หรือตัวอักษร ประเภทเดียวกัน หรือใช้ตัวอักษร ที่มีเสียงคู่กัน ที่เรียกว่า "อักษรคู่" เช่น ข ค ฆ หรือ ถ ท ธ เป็นต้น เช่น
ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน คือใช้อักษรตัวเดียวกันตลอดทั้งวรรค ดังนี้
แลลิงลิงเล่นล้อลางลิง
พาเพื่อนเพ่นพ่านพิงพวกพ้อง
ตื่นเต้นไต่ต่อติงเตี้ยต่ำ
ก่นกู่กันกึกก้องเกาะเกี้ยวกวนกัน
ใช้ตัวอักษรประเภทเดียวกัน คือใช้อักษรที่มีเสียงเหมือนกัน แต่รูปไม่เหมือนกัน เช่น ค ฆ ท ธ ร ล ศ ษ ส เป็นต้น ดังนี้
ศึกษาสำเร็จรู้ลีลา กลอนแฮ
ระลึกพระคุณครูบาบ่มไว้
อุโฆษคุณาภาเพ็ญพิพัฒน์
นิเทศธรณินให้หื่นซ้องสาธุการ
ใช้อักษรที่มีเสียงคู่กัน คือใช้อักษรต่ำ ชนิดอักษรคู่ 14 ตัว กับอักษรสูง 11 ตัว ซึ่งมีเสียงผันเข้ากันได้ เป็นคู่ๆ ดังนี้
อักษรต่ำ 14 ตัวอักษรสูง 11 ตัว
ค ฆ
ช ฌ
ซ (ทร-ซ)ศ ษ ส
ฑ ฒ ท ธฐ ถ
พ ภ
ตัวอย่างดังนี้
คูนแคขิงข่าขึ้นเคียงคาง
แฟงฟักไฟฝ่อฝางฝิ่นฝ้าย
ซางไทรโศกสนสางซ่อนซุ่ม
ทิ้งถ่อนทุยท่อมท้ายเถื่อนท้องแถวถิน
สัมผัสในดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ จึงมิได้มีแบบกำหนดมาแต่โบราณ แต่ถ้าไม่มี ก็ขาดรสไพเราะ ซึ่งเป็นยอดของรส ในเชิงฉันทลักษณ์ เพราะฉะนั้น คำประพันธ์ที่ดี จะขาดสัมผัสในเสียมิได้ เหมือนเกสร เป็นเครื่องเชิดชู ความสวยงามของบุปผชาติฉะนั้น

คำเป็นคำตาย

  • คำเป็น คือคำที่ไม่มีตัวสะกดประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในแม่ ก กา และคำที่มีตัวสะกด ในแม่กน กง กม เกย (คำที่มีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกย) รวมทั้ง สระสั้นทั้ง 4 ตัว คือ อำ ใอ ไอ เอาเช่น ตาดำชมเชยคนหุงข้าวเหนียวในครัวไฟ
  • คำตาย คือคำไม่มีตัวสะกดที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ในแม่ ก กา (ยกเว้น อำใอ ไอเอา) และคำที่มีตัวสะกด ในแม่ กก กด กบ เช่น นกกะหรอด กับนกกะปูด จิกพริก (ในการแต่งโคลงทุกชนิด ใช้คำตายแทน เอก ได้)

คำนำ

คำนำ คือคำที่ใช้กล่าวขึ้นต้น สำหรับเป็นบทนำ ในคำประพันธ์ เป็นคำเดียวบ้าง เป็นวลีบ้าง เช่น เมื่อนั้น บัดนั้น โฉมเฉลา น้องเอ๋ยน้องรัก รถเอ๋ยรถทรง ครานั้น สักวา ฯลฯ บางทีก็ใช้คำนามตรงๆ เหมือนอย่าง นามอาลปนะ เช่น สุริยา พระองค์ ภมร ดวงจันทร์ ฯลฯ ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
ปทุมาโสภาหมดจดสดสี
เกิดในใต้ตมวารีแต่ไร้ราคีเปือกตม
ฯลฯ
ภมรสุนทรมธุรสถ้อยหรรษา
กลั่นกล่าวเร้าดวงวิญญาณ์วาจาสิ้นลมคมใน
ฯลฯ

คำสร้อย

คำสร้อย คือคำที่ใช้สำหรับลงท้ายบทหรือท้ายบาทของคำประพันธ์ ซึ่งตามธรรมดา มีคำซึ่งมีความหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวนคำ ตามที่บัญญัติไว้ ในคำประพันธ์ จึงต้องเติมสร้อย เพื่อให้มีคำ ครบตามจำนวน และเป็นการเพิ่มสำเนียงให้ไพเราะ ในการอ่านด้วย คำสร้อยนี้ จะเป็นคำนาม คำวิเศษณ์ คำกริยานุเคราะห์ คำสันธาน หรือคำอุทาน ก็ได้ แต่ถ้าเป็นคำอุทาน ที่มีรูปวรรณยุกต์ ต้องตัดรูปวรรณยุกต์ออก และไม่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ มิฉะนั้น จะขัดต่อการอ่านทำนองเสนาะ และในการใช้นั้น ควรเลือกคำที่ท่านวาง เป็นแบบฉบับไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
  • คำนาม เช่น พ่อ แม่ พี่
  • คำกริยานุเคราะห์ เช่น เทอญ นา
  • คำสันธาน เช่น ฤๅ แล ก็ดี
  • คำอุทาน เช่น ฮา แฮ เฮย เอย เวย รา อา นอ
  • คำวิเศษณ์ เช่น บารนี เลย
คำสร้อยนี้ ต้องเป็นคำเป็น จะใช้คำตายไม่ได้ และใช้เฉพาะบทประพันธ์ ชนิดโคลง และร่าย เท่านั้น

สุนทรียภาพของฉันทลักษณ์ไทย

คือ แง่ความงามของฉันทลักษณ์เป็นเครื่องยังให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ เกิดจากองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

สุนทรียรูป

ได้แก่ การเลือกใช้รูปแบบของคำประพันธ์ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและอารมณ์ที่ผู้แต่งต้องการสื่อ รวมทั้งความถูกต้องตามแบบแผนของคำประพันธ์ที่เลือกด้วย

สุนทรียลีลา

คือ แง่งามในด้านกระบวนการพรรณนา ซึ่งมีอยู่ 4 กระบวน คือ
  1. เสวรจนี กระบวนการชมความงามทั้งของตัวละครและสิ่งต่างๆ
  2. นารีปราโมช กระบวนการเล้าโลมเกี้ยวพาราสีหรือพูดให้เพลิดเพลิน
  3. พิโรธวาทัง กระบวนการตัดพ้อ โกรธขุ่นเคือง เยาะเย้ย เหน็บแนม
  4. สัลลาปังคพิไสย กระบวนการคร่ำครวญ โศกเศร้า พร่ำเพ้อ อาลัยอาวรณ์

สุนทรียรส

คือ แง่งามด้านอารมณ์สะเทือนใจ อันเกิดจากกระบวนการพรรณนา และกลวิธีการประพันธ์ที่เหมาะสม มีอยู่ 9 รส คือ
  1. สิงคารรส ( รสแห่งความรัก )
  2. หาสยรส ( รสแห่งความตลกขบขัน )
  3. กรุณารส ( รสแห่งความเมตตากรุณา )
  4. รุทธรส ( รสแห่งความโกรธ )
  5. วีรรส ( รสแห่งความกล้าหาญ )
  6. ภยานกรส ( รสแห่งความกล้า )
  7. วิภัจฉารส ( รสแห่งความเกลียดชัง ขยะแขยง )
  8. อัพภูตรส ( รสแห่งความพิศวง อัศจรรย์ )
  9. สันตรส ( รสแห่งความสงบ เยือกเย็น บรสุทธิ์ )

วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

สังข์ทอง

สังข์ทอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีลักษณะของละครนอก มีตัวละครที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เจ้าเงาะซึ่งคือพระสังข์ กับนางรจนา เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและเป็นนิยม จึงมีการนำเนื้อเรื่องบางบทที่นิยม ได้แก่ บทพระสังข์ได้นางรจนา เพื่อนำมาประยุกต์เป็นการแสดงชุด รจนาเสี่ยงพวงมาลัย

 

ที่มา

สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวรรณสังขชาดก เป็นหนึ่งใน ชาดกพุทธประวัติ เป็นนิทานพื้นบ้านในภาคเหนือและภาคใต้โดยที่สถานที่ที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องในสังข์ทอง กล่าวคือเล่ากันว่า
  • เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองท้าวสามล อยู่ในบริเวณใกล้วัดมหาธาตุเนื่องจากมีลานหินเป็นสนามตีคลีของพระสังข์
  • ส่วนในภาคใต้ เชื่อว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามล มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า "เขาขมังม้า" เนื่องจากเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะได้ขี่ม้าข้ามภูเขานั้นไป
แต่บางข้อมูลสันนิษฐานว่า สังข์ทอง นั้นได้รับอิทธิพลมาจากนิทานพื้นบ้านของชวา ที่มีเนื้อเรื่องคล้ายกัน ซึ่งหอยชนิดที่เป็นหอยสงข์ให้สังข์ทองซ่อนตัวอยู่นั้น คือ หอยสังข์ชนิด Syrinx aruanus ซึ่งเป็นหอยที่พบได้ในทะเลแถบชวา-มลายู นับเป็นหอยฝาเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ถึงขนาดที่เด็กทารกสามารถลงไปในนอนในนั้นได้ และมีเปลือกสีทอง

เนื้อเรื่องย่อ

ณ เมืองยศวิมลนคร อันมีท้าวยศวิมลเป็นเจ้าเมือง พระมเหสีจันเทวีได้คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์ จึงถูกพระนางจันทา มเหสีรอง ใส่ร้ายว่าเป็นกาลีบ้านเมือง จนถูกขับออกจากเมืองไปอยู่กระท่อมตายายที่ชายป่า จนกระทั่งพระสังข์ที่ซ่อนอยู่ในหอย ได้ออกมาพบแม่ สร้างความยินดีกับพระนางจันเทวีมากข่าวล่วงรู้ไปถึงนางจันทา จึงได้ส่งคนมาจับพระสังข์ไปถ่วงน้ำ แต่ท้าวภุชงค์พญานาคราชช่วยเอาไว้ และส่งให้ไปอยู่กับ นางพันธุรัต พระสังข์รู้ว่านางพันธุรัตเป็นยักษ์จึงขโมยรูปเงาะ ไม้เท้า เกือกแก้ว เหาะหนีมาอยู่บนเขา นางพันธุรัตตามมาทันแต่ ไม่สามารถขึ้นไปหาพระสังข์ได้ จึงได้มอบมนต์มหาจินดา เรียกเนื้อเรียกปลาให้แก่พระสังข์ก่อนที่จะอกแตกสิ้นใจตายที่เชิงเขา นั่นเอง พระสังข์เหาะมาจนถึงเมืองสามล ท้าวสามลและนางมณฑากำลังจัดพิธีเลือกคู่ให้ธิดาทั้งเจ็ด แต่รจนาพระธิดาองค์สุดท้อง ไม่ยอมเลือกใครเป็นคู่ ท้าวสามลจึงให้คนไปตามเจ้าเงาะมาให้เลือก รจนาเห็นรูปทองที่ซ่อนอยู่ในรูปเงาะจึงเสี่ยงมาลัยไปให้ สร้างความพิโรธให้ท้าวสามาลจึงถึงกับขับไล่รจนาให้ไปอยู่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะท้าวสามลหาทางแกล้งเจ้าเงาะ โดยการให้ไปหาเนื้อหาปลาแข่งกับเขยทั้งหก เจ้าเงาะให้มนต์ที่นางพันธุรัตให้ไว้เรียกเนื้อ เรียกปลามารวมกันทำให้หกเขยหาปลาไม่ได้ จึงต้องยอมตัดปลายหูและปลายจมูกแลกกับเนื้อและปลาท้าวสามลพิโรธมากจนถึงกับคิดหาทางประหารเจ้าเงาะ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องหาทางช่วยโดยการลงมาท้าตีคลีชิงเมือง กับท้าวสามล ท้าวสามลส่งหกเขยไปสู้ก็สู้ไม่ได้ จึงต้องยอมให้เจ้าเงาะไปสู้แทน เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์และสู้กับพระอินทร์ จนชนะ ท้าวสามลจึงยอมรับพระสังข์กลับเข้าเมืองและจัดพิธีอภิเษกให้ พระอินทร์ไปเข้าฝันท้าวยศวิมล เพื่อบอกเรื่องราวทั้งหมด ท้าวยศวิมลจึงออกตามหาพระนางจันเทวีจนพบ และได้เดินทาน ไปเมืองสามลนครเพื่อพบพระสังข์ โดยพระนางจันเทวีได้ปลอมเป็นแม่ครัวในวังและได้แกะสลักเรื่องราวทั้งหมดบนชิ้นฟัก ให้พระสังข์เสวย ทำให้พระสังข์รู้ว่าแม่ครัวคือพระมารดานั่นเอง พระสังข์และรจนาจึงได้เสด็จตามท้าวยศวิมลและพระนาง จันเทวีกลับไปครองเมืองยศวิมลสืบไป

 

บทละคร

มีทั้งหมด ๙ ตอนดังนี้
๑.กำเนิดพระสังข์
๒.ถ่วงพระสังข์
๓.นางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์
๔.พระสังข์หนีนางพันธุรัตน์
๕.นางรจนาเลือกคู่
๖.พระสังข์ได้นางรจนา
๗.ท้าวสามลให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ
๘.พระสังข์ตีคลี
๙.ท้าวยศวิมลตามพระสังข์

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ลิลิตพระลอ

ลิลิตพระลอ เป็นลิลิตโศกนาฏกรรมความรัก ที่แต่งขึ้นอย่างประณีตงดงาม มีความไพเราะของถ้อยคำ และเต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ พรรณนาเรื่องด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ใช้กวีโวหารอย่างยอดเยี่ยม ในการบรรยายเนื้อเรื่อง ที่มีฉากอย่างมากมาย หลากหลายอารมณ์ โดยมีแก่นเรื่องแบบรักโศก หรือโศกนาฏกรรม และแฝงแง่คิดถึงสัจธรรมของชีวิต ลิลิตพระลอนี้เคยถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนักวรรณคดีบางกลุ่ม เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่มอมเมาทางโลกีย์
ลิลิตพระลอที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. 2459 ให้เป็นยอดแห่งลิลิต
ทั้งเรื่องผู้แต่งและปีที่แต่ง ไม่ปรากฏหลักการหรือข้อความระบุที่ชัดเจน แต่อาจอาศัยเนื้อเรื่องที่ระบุถึงสงครามระหว่างไทยและเชียงใหม่มาเป็นจุดอ้างอิง ซึ่งเดิมนั้นเชื่อว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน และเป็นที่ถกเถียงกันมาจวบจนปัจจุบัน นักจารณ์วรรณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ลิลิตพระลอแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาแน่ แต่ยังมีบางท่านเสนอเวลาที่ใหม่กว่านั้น ว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังมีผู้คล้อยตามไม่มากนัก
นักวรรณคดีมักจะยกโคลงท้ายบทมาเป็นหลักฐานพิจารณาสมัยที่แต่ง ดังนี้
 
659.จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์
ยอยศพระลอคน หนึ่งแท้
พี่เลี้ยงอาจเอาตน ตายก่อน พระนา
ในโลกนี้สุดแล้ เลิศล้ำคุงสวรรค์ฯ
660.จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง
กลอนกล่าวพระลอยง ยิ่งผู้
ใครฟังย่อมใหลหลง ฤๅอิ่ม ฟังนา
ดิเรกแรกรักชู้ เหิ่มแท้รักจริงฯ
 
     จากโคลงข้างบน มีผู้เสนอว่า "มหาราช" คือกษัตริย์ เป็นผู้แต่ง และ "เยาวราช"เป็นผู้เขียน (บันทึก) และสันนิษฐานว่า ผู้แต่งน่าจะเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และผู้เขียน คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 และคาดว่าน่าจะแต่งเมื่อ พ.ศ. 2034-2072
อย่างไรก็ตาม นักวรรณคดีบางท่าน เสนอว่า น่าจะอยู่ในสมัยพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-2089)เนื่องจากเป็นสมัยที่มีสงครามระหว่างไทยกับเชียงใหม่ และเป็นสมัยแรกที่มีการใช้ปืน (ปืนไฟ) ในการรบ
ภาษาสำนวนในลิลิตพระลอ อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ในสมัยอยุธยา แต่ก็ยังมีศัพท์ยาก และศัพท์โบราณอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้นักวิจารณ์บางท่านเสนอว่า ลิลิตพระลอแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์
     คำประพันธ์ในเรื่องลิลิตพระลอ เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ, ร่ายสอดสร้อย, โคลงสองสุภาพ, โคลงสามสุภาพ และ โคลงสี่สุภาพ สลับกันตามจังหวะ ลีลา และเนื้อหาของเรื่อง
เนื้อเรื่อง
ท้าวแมนสรวงเป็นกษัตริย์ของเมืองแมนสรวง พระองค์มีพระมเหสีทรง พระนามว่า “ นาฏบุญเหลือ ” ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสมีพระนามว่า “ พระลอดิลกราช ” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “ พระลอ ” มีกิตติศัพท์เป็นที่ร่ำลือกันว่าพระองค์นั้นทรงเป็นชายหนุ่มรูปงามไปทั่วสารทิศจนไปถึงเมืองสรอง ( อ่านว่า เมืองสอง ) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกปกครองโดยท้าวพิชัยวิษณุกร พระองค์มีพระนามว่า “ พรดาราวดี ” และพระองค์ทรงมีพระธิดาผู้เลอโฉมถึงสองพระองค์พระนามว่า “ พระเพื่อน ” และ “ พระแพง ”
พระเพื่อนและพระแพงได้ยินมาว่า พระลอเป็นชายหนุ่มรูปงาม ก็ให้ความสนใจยากจะได้ยล พี่เลี้ยงของพระเพื่อนและพระแพงคือนางรื่น และนางโรยสังเกตเห็นความปรารถนาของนายหญิงของตนก็เข้าใจในพระประสงค์ สองพี่เลี้ยงจึงอาสาจะจัดการให้นายของตนนั้นได้พบกับพระลอ โดยการส่งคนไปขับซอในนครแมนสรวง และในขณะที่ขับซอนั้นจะไห้นักดนตรีพร่ำพรรณนาถึงความงามของเจ้าหญิงทั้งสอง ในขณะเดียวกันนั้นพี่เลี้ยงทั้งสองก็ได้ไปหาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อที่จะให้ช่วยทำเสน่ห์ให้พระลอหลงใหลในเจ้าหญิงทั้งสอง
เมื่อพระลอต้องมนต์ก็ทำใคร่อยากที่จะได้ยลพระเพื่อนและพระแพงเป็นยิ่งนัก พระองค์เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงจนไม่เป็นอันทำอะไรแม้แต่กระทั่งเสวยพระกระยาหาร พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพระองค์ ได้ทำให้พระราชชนนีสงสัยว่าจะมีผีมาเข้ามาสิงสู่อยู่แต่ถึงแม้ว่าจะหาหมอผีคนไหนมาทำพิธีขับไล่ก็ไม่มีผลอันใด พระลอก็ยังคงมีพฤติการณ์อย่างเดิมอยู่
เพื่อที่จะได้ยลเจ้าหญิงทั้งสอง พระลอจึงทูลลาพระราชชนนีออกประพาสป่า แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือ เพื่อที่จะได้ไปยลเจ้าหญิงแห่งเมืองสรองนั่นเอง จากนั้นพระลอก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองสรองพร้อมคนสนิทอีก 2 คน คือ นายแก้ว กับนายขวัญ พร้อมกับไพร่พลอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดต้องเดินผ่านป่าผ่าดงจนกระทั่งมาพบแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่า “ แม่น้ำกาหลง ”
และที่แม่น้ำกาหลงนี้เอง ที่พระลอได้ตั้งอธิฐานเสี่ยงน้ำเพื่อตรวจดูดวงชะตาของพระองค์เอง ทันทีที่ได้สิ้นคำอธิษฐานนั้น แม่น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดในทันทีและไหลเวียนวนผิดปกติ เมื่อพระลอเห็นดังนั้นก็รู้ได้ว่าจะมีเรื่องร้ายรออยู่เบื้องหน้าของพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดความย่อท้อที่จะได้พบกับเจ้าหญิงที่พระทัยของพระองค์เรียกร้องแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าพระองค์นั้นจะไม่เคยพบนางเลย แต่พระองค์คลั่งไคล้ไหลหลงในตัวนางทั้งสองเป็นยิ่งนัก
ส่วนเจ้าหญิงทั้งสองรอการเดินทางมาของเจ้าชายรูปงามไม่ได้ และเกรงว่ามนต์เสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพรายจะไม่เห็นผล จึงได้ขอร้องให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยเหลืออีกครั้ง โดยให้ช่วยเนรมิตไก่งามขึ้นตัวหนึ่งให้มีเสียงขันที่ไพเราะ ทั้งสองพระองค์คิดว่าไก่ตัวนั้นจะต้องทำให้พระลอสนพระทัยและติดตามาจนถึงเมืองสรองอย่างแน่นอน
และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่เจ้าหญิงสองคาดไว้ พระลอได้ตามไก่เนรมิตไปจนถึงพระราชอุทยาน และได้พบกับเจ้าหญิงทั้งสองซึ่งกำลังทรงสำราญอยู่ ในทันทีที่ทั้งสามได้พบกันก็เกิดความรักใคร่กันในบัดดล และก็เป็นเวลาเดียวกับที่นายแก้วกับนายขวัญ ได้ตกหลุมรักของนางรื่นและนางโรยผู้ซึ่งเปิดหัวใจต้อนรับชายหนุ่มทั้งสองโดยไม่รีรอเช่นกัน ปรากฏว่าพระลอและบ่าวคนสนิทของพระองค์ลักลอบเข้าไปอยู่ในพระตำหนักชั้นในซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงทั้งสอง
อย่างไรก็ตาม ความลับนี้ได้ถูกเปิดเผยเข้าจนได้ เมื่อข่าวได้ไปถึงพระกรรณของพระราชาจึงได้เสด็จมาไต่สวนในทันที และเมื่อพระลอกราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงกริ้วเป็นยิ่งนัก แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในความรักของคนทั้งสาม และทรงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ทั้งสามพระองค์ทันที
ด้วยการอ้างเอาพระราชโองการของพระราชโอรสของพระนางคือ ท้าวพระพิชัยวิษณุกร พระเจ้าย่าจึงสั่งให้ทหารล้อมพระลอและไพร่พลเอาไว้ ในขณะที่พระลอกับไพร่พลได้ต่อสู้เอาชีวิตรอด พระนางก็สั่งให้ทหารระดมยิงธนูเข้าใส่ ลูกธนูที่พุ่งเข้าหาพระองค์และไพร่พลประดุจดังห่าฝนก็ไม่ปานจึงทำให้ไม่อาจจะต้านทานไว้ได้อีกต่อไป
และเพื่อที่ปกป้องชีวิตของชายคนรักพระเพื่อนกับพระแพงจึงเข้าขวางโดยใช้ตัวเองเป็นโล่กำบังให้พระลอ ทั้งสามจึงต้องมาสิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของกันและกันท่ามกลางศพของบ่าวไพร่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ทันใดนั้นทั้งสองเมืองก็ต้องตกอยู่ในความวิปโยคต่อการจากไปของทั้งสามพระองค์ผู้บูชาในรักแท้

อนุสาวรีย์ลิลิตพระลอ ที่ จ.แพร่

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

วรรณคดีและวรรณกรรม

วรรณกรรม (อังกฤษ: Literature) หมายถึง งานเขียนที่แต่งขึ้นหรืองานศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก
ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคม เป็นต้น
วรรณกรรมเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารเรื่องราวให้เข้าใจระหว่างมนุษย์ ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมาย เรื่องราวต่าง ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารได้แก่
ภาษาพูด โดยการใช้เสียง
1.ภาษาเขียน โดยการใช้ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์ และภาพ
2.ภาษาท่าทาง โดยการใช้กิริยาท่าทาง หรือประกอบวัสดุอย่างอื่น
3.ความงามหรือศิลปะในการใช้ภาษาขึ้นอยู่กับ การใช้ภาษาให้ถูกต้อง ชัดเจน และ เหมาะสมกับเวลา โอกาส และบุคคล นอกจากนี้ ภาษาแต่ละภาษายังสามารถปรุงแต่ง ให้เกิดความเหมาะสม ไพเราะ หรือสวยงามได้ นอกจากนี้ ยังมีการบัญญัติคำราชาศัพท์ คำสุภาพ ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษาที่ควรดำรงและยึดถือต่อไป ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม เรียกว่า นักเขียน นักประพันธ์ หรือ กวี (Writer or Poet)
วรรณกรรมไทย แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
1.ร้อยแก้ว เป็นข้อความเรียงที่แสดงเนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ
2.ร้อยกรอง เป็นข้อความที่มีการใช้คำที่สัมผัส คล้องจอง ทำให้สัมผัสได้ถึงความงามของภาษาไทย ร้อยกรองมีหลายแบบ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
วรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6
วรรณคดี เป็นวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าเขียนดี มีคุณค่า สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาที่ไพเราะ เหมาะแก่การให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะ สามารถ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร
วรรณคดีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
วรรณคดีมุขปาฐะ
คือ วรรณคดี แบบที่เล่ากันมาปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เพลงพื้นบ้าน นิทานชาวบ้าน บทร้องเล่น
วรรณคดีราชสำนัก หรือ วรรรคดีลายลักษณ์ เช่น ไตรภูมิพระร่วง พระอภัยมณี อิเหนา ลิลิตตะเลงพ่าย
วรรณคดีในภาษาไทย
วรรณคดีในภาษาไทย ตรงกับคำว่า "Literature ในภาษาอังกฤษ" โดยคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาลาติน แปลว่า การศึกษา ระเบียบของภาษา ซึ่งในภาษาอังกฤษจะมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้
อาชีพการประพันธ์
งานเขียนในสมัยใดสมัยหนึ่ง งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ และผู้อ่านทั่วไป สำหรับในภาษาไทย วรรณคดี ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 โดยมีความหมายคือ หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี นั้นคือมีการใช้ภาษาอย่างดี มีศิลปะการแต่งที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านศิลปะการใช้คำ ศิลปะการใช้โวหารและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และภาษานั้นให้ความหมายชัดเจน ทำให้เกิดการโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้คล้องตามไปด้วย กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อผู้อ่าน อ่านแล้วทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้นดื่มด่ำ หนังสือเล่มใดอ่านแล้วมีอารมณ์เฉยๆ ไม่ซาบซึ้งตรึงใจและทำให้น่าเบื่อถือว่าไม่ใช่วรรณคดี หนังสือที่ทำให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความรู้สึกฝ่ายสูง คือทำให้เกิดอารมณ์ความนึกคิดในทางที่ดีงาม ไม่ชักจูงในทางที่ไม่ดี
การศึกษาวรรณคดีโดยวิเคราะห์ตามประเภท สามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
  • วรรณคดีคำสอน
  • วรรณคดีศาสนา
  • วรรณคดีนิทาน
  • วรรณคดีลิลิต
  • วรรณคดีนิราศ
  • วรรณคดีเสภา
  • วรรณคดีบทละคร
  • วรรณคดีเพลงยาว
  • วรรณคดีคำฉันท์
  • วรรณคดียอพระเกียรติ
  • วรรณคดีคำหลวง
  • วรรณคดีปลุกใจ

ปัจจุบันการศึกษาวรรณคดีและวรรณกรรมเริ่มง่ายกว่าสมัยก่อน เช่น มีการทำเป็นหนังสือเรียน วรรณคดีและวรรณกรรม

คำที่มีประวิสรรชนีย์ และคำที่ไม่มีประวิสรรชนีย์

คำที่ประวิสรรชนีย์

คำที่ออกเสียง อะ ที่ต้องประวิสรรชนีย์ (ะ) มีดังนี้
  • คำไทยทุกคำที่ออกเสียงอะ เช่น ตะโก้ มะลิ มะละกอ
  • คำไทยที่ขึ้นต้นด้วย ก ต ส เช่น กะทิ ตะลึง สะกด
  • พยางค์หน้าของคำที่เป็นคำควบกล้ำ กร ตร ปร พร และออกเสียง อะ เช่น กระเป๋า ตระกูล ประจวบ พระพุทธเจ้า
  • คำที่พยางค์หน้ากร่อนเป็นเสียงอะ จากคำเดิมที่เป็นคำประสม เช่น
หมากม่วง - มะม่วง
ต้นเคียน - ตะเคียน
เฌอเอม - ชะเอม
ตัวขาบ - ตะขาบ
สายดือ - สะดือ
  • คำที่เดิมประวิสรรชนีย์อยู่แล้ว แต่เมื่อเติม ร เพื่อใช้ในการประพันธ์ก็ยังคงประวิสรรชนีย์ตามเดิม เช่น
สะคราญ - สระคราญ
ชะลอ - ชระลอ
ชะง่อน - ชระง่อน
  • คำที่กร่อนมาจากคำซ้ำหรือคำอัพภาสในไวยากรณ์บาลีสันสกฤต เช่น
คึกคึก - คะคึก
รื่นรื่น - ระรื่น
แจ้วแจ้ว - จะแจ้ว
  • คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตที่มีพยางค์ท้ายออกเสียงอะ เช่น ธุระ พละ มรณะ
  • คำที่มาจากภาษาชวาซึ่งมีพยางค์ออกเสียงอะ เช่น ปะไหมสุหรี มะเดหวี ปะตาระกาหลา
  • คำที่มาจากภาษาอื่น ๆ ที่มีพยางค์ออกเสียงอะ เช่น ซากุระ โซบะ ตือบะ แป๊ะซะ มะกะโรนี

คำที่ไม่ประวิสรรชนีย์

คำที่ออกเสียง อะ ที่ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ (ะ) มีดังนี้
  • คำที่เป็นอักษรนำ เช่น
ขนม อ่านว่า ขะ - หนม
ฉลอง อ่านว่า ฉะ - หลอง
สวาท อ่านว่า สะ - หวาด
  • คำไทยที่มีตัวสะกดออกเสียง อะ เช่น
จักจั่น อ่านว่า จัก - กะ - จั่น
สัปดน อ่านว่า สับ - ปะ - ดน
ตุ๊กตา อ่านว่า ตุ๊ก - กะ - ตา
  • คำที่แผลงมาจากคำเดิมซึ่งไม่ประวิสรรชนีย์ เช่น
ชอุ่ม มาจาก ชะอุ่ม
ชไม มาจาก ชะไม
ชอ่ำ มาจาก ชะอ่ำ
  • คำที่ออกเสียงอะโดยไม่ประวิสรรชนีย์ที่ได้รับการยกเว้น คือ ณ พณ ธ
  • คำที่ออกเสียงอะกึ่งเสียง เช่น ขโมย สติ อนุรักษ์
  • คำที่เป็นคำสมาสในภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งมีเสียงอะระหว่างคำ เช่น วัฒนธรรม ศิลปศึกษา สาธารณสุข



วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

คำครุ-ลหุ กับ คำเอก-โทต่างกันหรือเมือนกันอย่างไร???

บางคนเคยคิดว่าคำครุกับคำเอกเหมือนกัน และลหุกับคำโทเหมือนกัน จริงๆแล้ว ไม่ใช่เลย
เพราะครุ-ลหุเป็นเสียงหนัก-เบาของภาษาไทย เรามารู้ข้อมูลของคำแต่ละชนิดกันก่อนนะครับ

ครุ
        คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) และ สระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่นตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
        ครุ (เสียงหนัก) เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในมาตราแม่ ก.กาและมีตัว สะกด รวมทั้งประสมด้วย อำ ไอ ใอ เอา เช่น จำ ได้ ไป เขา รัก ลูก
         คำครุ แปลว่า เสียงหนัก สัญลักษณ์ “ อั “ ประกอบด้วย
๑.พยางค์ที่มีสระเสียงยาวไม่มีตัวสะกด เช่น มาหา พารา
๒.พยางค์ที่มีตัวสะกดทั้ง ๘ แม่ เช่น รัก ชิด ชอบ ฯลฯ
๓.พยางค์ที่มีสระ อำ ไอ ใอ เอา เช่น เรา จำ ใจ ไป
ลหุ
        คือพยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วย สระสั้น(รัสสระ) ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ
        ลหุ คำที่มีเสียงเบา เป็นพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น เช่น จะ ดุ ติ ผิว กระทะ ฤ

         คำลหุ แปลว่า เสียงเบา สัญลักษณ์ “ อุ “ ประกอบด้วย
๑.พยางค์ที่มีสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น มะลิ ชิชะ ก็ เถอะ
๒.พยางค์ที่มีตัวพยัญชนะตัวเดียว เช่น ณ บ ธ
    ส่วนมากคำครุ-ลหุจะใช้ใน อินทรวิเชียรฉันท์๑๑เป็นส่วนใหญ่ เช่น


คำเอก คำโท 
คือ  พยางค์หรือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุกต์โท ตามลำดับอย่างไรละครับ  ใช้ในคำประพันธ์ประเภทโคลง  คำประพันธ์ประเภทร่าย  (เพราะการแต่งร่ายก็ต้องจบบทด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสองสุภาพ)
คำเอก  คือ
พยางค์หรือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์เอก  เช่นคำว่า แต่  ข่อย  เฟื่อง  ก่อ   บ่าย   ท่าน  พี่  ช่วย  บ่  คู่  อยู่  ฯลฯ
คำเอก  รวมถึงการอนุโลมให้ใช้คำตายแทนได้  (คำตาย  คือ  คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นและไม่มีตัวสะกด หรือคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กก  แม่  กด   แม่  กบ)  เช่นคำว่า พระ  ตราบ  ออก  ปะทะ  จักร   ขาด  บัด  ฯลฯ
คำโท  คือ
พยางค์หรือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์โท  เช่นคำว่า  ค้ำ  ข้อง  ไซร้  ทั้ง  รู้  ไท้  เพี้ยง  ฯลฯ
เอกโทษ  คือ
คำที่มีความหมายและกำกับด้วยรูปวรรณยุกต์โท  แต่มีความจำเป็นที่ต้องแปลงให้เป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก  แม้ว่าคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกที่ได้เปลี่ยนจากคำที่มีรูปวรรณยุกต์โทแล้วนั้น ได้คำที่มีไม่มีความหมายแต่ยังคงให้มีความหมายเหมือนคำที่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับอยู่เดิม  เช่นคำว่า  สิ้นเลือด   แปลงเป็น  ซิ่นเลือด     ภพหล้า   แปลงเป็น  ภพล่า  เป็นต้น
โทโทษ  คือ 
คำที่มีความหมายและกำกับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก  แต่มีความจำเป็นที่ต้องแปลงให้เป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท  แม้ว่าคำที่มีรูปวรรณยุกต์โทที่ได้เปลี่ยนจากคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกแล้ว นั้น ได้คำที่มีไม่มีความหมายแต่ยังคงให้มีความหมายเหมือนคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก กำกับอยู่เดิม  เช่นคำว่า  เล่าเรื่อง   แปลงเป็น  เหล้าเรื่อง     ค่าจ้าง   แปลงเป็น  ข้าจ้าง  เป็นต้น
ส่วนใหญ่คำเอก-โท เละ เอกโทษ-โทโทษ จะใช้ในโคลงสี่สุภาพและร้องกรองประเภทร่าย 


คงจะเห็นความแตกต่างของคำแต่ละชนิดแล้วนะครับ 

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน

ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน

ภาษาสื่อสารเกิดจากการเรียนรู้ มิใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือเกิดจากสัญชาติญาณ 
มนุษย์เราค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการใช้ภาษาเพื่อ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน มาทีละเล็กทีละน้อยตามความจำเป็น ของชีวิตและมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และพัฒนาขึ้นตามลำดับ ทั้งภาษาถ้อยคำและภาษา ที่ไม่ใช่ถ้อยคำการใช้ภาษา ในชีวิตประจำวันย่อมมีความแตกต่างกัน ไปบ้างตามกาลเทศะ บุคคล อาชีพ เพศ วัย สภาพทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ วิธีการเรียบเรียงถ้อยคำ และการเลือกใช้ถ้อยคำ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีสิทธิผลทำให้เกิดความแตกต่าง ทำให้เกิดภาษากลุ่มย่อย ๆ ขึ้น แต่อย่างไร ก็ตามไม่ว่าผู้ใช้ภาษา จะอยู่ในสังคมใด ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ภาษาของคนในสังคมนั้นให้เข้าใจ ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้ภาษาสื่อสาร ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษากลุ่มย่อย ๆ ต่าง ๆ มีดังนี้

ภาษาถิ่น เป็นภาษาย่อยที่ใช้พูดจากันในท้องถิ่นต่าง ๆ  
แบ่งได้เป็น 4  ถิ่นใหญ่ ๆ  คือ ภาษาถิ่นกลาง  ภาษาถิ่นเหนือ  ภาษาถิ่นอีสานและภาษาถิ่นใต้

1.ภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารอยู่ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี  นครปฐม  อ่างทอง   และพระนครศรีอยุธยา  เป็นต้น  ภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารอยู่ในจังหวัดเหล่านี้  มีสำเนียงพูดที่แตกต่างกันออกไป  จะมีลักษณะเพี้ยนเสียงไปจากภาษากลางที่เป็นภาษามาตรฐาน 



2.ภาษาถิ่นเหนือหรือภาษาถิ่นพายัพ (คำเมือง)  ได้แก่ ภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารอยู่ในบางจังหวัดของภาคเหนือตอนบน หรือภาษาในอาณาจักรล้านนาเดิม  มักจะพูดกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน ลำพูน ตาก แพร่  เป็นต้น
ตัวอย่างคำในภาษาถิ่นเหนือ
คำ
ความหมาย
คำ
ความหมาย
กิ๋น
กิน
กาด
ตลาด
กาดมั่ว
ตลาดเช้า
กาดแลง
ตลาดเย็น
กะเลิบ
กระเป๋า
เกือก
รองเท้า
เกี้ยด
เครียด
ขนาด
มาก
ขี้จุ๊
โกหก
ขี้ลัก
ขี้ขโมย

3.ภาษาถิ่นอีสานของประเทศไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาที่พูดที่ใช้กันในประเทศลาว แต่ภาษาอีสานก็ยังถือว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษาไทย ภาษาถิ่นอีสานมีภาษาถิ่นย่อยหลายภาษา  ได้แก่  ภาษาที่ชนกลุ่มใหญ่ในภาคอีสานใช้พูดจากัน  ซึ่งใช้สื่อสารอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสาน  หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สกลนคร หนองคาย นครพนม ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด  เลย  ชัยภูมิ  มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เป็นต้น

ตัวอย่างคำในภาษาถิ่นอีสาน
คำ
ความหมาย
คำ
ความหมาย
กะปอม
กิ้งก่า
กะต้า
ตะกร้า
เกิบ
รองเท้า
ข่อย
ฉัน, ผม
ข้อง
ติด, คา
คึดฮอด
คิดถึง
จังซั่น
อย่างนั้น
จังซี่
อย่างนี้
จังได๋
อย่างไร
จั๊ก
รู้
4.ภาษาถิ่นใต้  ได้แก่ ภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ของประเทศไทย ลงไปถึงชายแดนประเทศมาเลเซีย รวม  14  จังหวัด เช่น ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช  เป็นต้น และบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ภาษาถิ่นใต้   ยังมีภาษาถิ่นย่อยลงไปอีก เป็นภาษาถิ่นใต้ ภาคตะวันออก  เช่น ภาษาถิ่นที่ใช้ใน จังหวัดนครศรีธรรมราช  พัทลุง สงขลา  ปัตตานี  ตรัง  สตูล   ภาษาถิ่นใต้ตะวันตก  เช่น  ภาษาถิ่นที่ใช้ในจังหวัดกระบี่  พังงา  ระนอง  สุราษฎร์ธานีและชุมพร  และภาษาถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห  เช่น  ภาษาถิ่นที่ใช้ในจังหวัดนราธิวาส และ  ปัตตานี    ในแต่ละภาคก็จะมีภาษาถิ่นใต้ เป็นภาษาถิ่นย่อยลงไปอีก เช่น  ภาษาถิ่นระนอง ภาษาถิ่นภูเก็ต ภาษาถิ่นพัทลุง ภาษาถิ่นสงขลา เป็นต้น ภาษาถิ่นย่อยเหล่านี้อาจจะมีเสียง และคำที่เรียกสิ่งเดียวกันแตกต่างกันออกไป 
ตัวอย่างคำในภาษาถิ่นใต้
คำ
ความหมาย
คำ
ความหมาย
กุบกั่บ
รีบร้อน
กางหลาง
เกะกะ
แกล้ง
ตั้งใจทำ
โกปี้
กาแฟ
ข้องใจ
คิดถึง, เป็นห่วง
ขี้หมิ้น
ขมิ้น
ขี้ชิด
ขี้เหนียว
แขบ
รีบ
ขี้หก, ขี้เท็จ
โกหก
แขว็ก
แคะ
5.ภาษาถิ่นตะวันออกว่าเป็นภาษาย่อย ที่ใช้พูดจากัน ในท้องถิ่นตะวันออกมี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น
ตัวอย่างคำในภาษาถิ่นตะวันออก
คำ
ความหมาย
คำ
ความหมาย
กะแต่ง
ผักที่มีลักษณะคล้ายบุกแต่เล็กกว่า
เกียน
เกวียน
คุน,แมะ
ยาย
ตะโงน
ตะโกน
พอแรง
มาก
โพง
กระป๋องตักน้ำ
นักนั่ก
มากมาย,เยอะแยะ
ธุ
ไหว้
สงาด
เยอะ, มากมาย
สนุกซ้ะ
สนุกมาก
 ภาษามาตรฐาน เป็น ภาษาถิ่นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งการพูดและการเขียน ถือเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อสื่อสารเข้าใจกันทั้งประเทศด้วยสำนวน และสำเนียงเดียวกัน ใช้ติดต่อสื่อสารในวงราชการ สถานศึกษาและสถาบันสำคัญในสังคม ในสถานการณ์ ที่เป็นทางการ ภาษาถิ่นที่ได้รับการยอมรับ ให้เป็นภาษามาตรฐานนั้น มักจะเป็นภาษาถิ่นที่ใช้ติดต่อสื่อสาร กันอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ ดังเช่น ภาษามาตรฐานของไทยก็ คือ ภาษาถิ่นกรุงเทพมหานคร  ภาษามาตรฐานมีลักษณะดังนี้
ี้ 
        1)  เป็นภาษาที่ได้รับการเลือกเฟ้น ภาษามาตรฐานเป็นภาษาถิ่นที่ได้รับการเลือกเฟ้น 
จากภาษาถิ่นของบุคคลในถิ่นที่มีบทบาทในการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมแล้วยกระดับ มาตรฐาน ให้ทุกคนใช้เหมือนกันและเข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ภาษาถิ่นนั้นจะต้องมี ลักษณะผสมผสาน เอาลักษณะ ของภาษาถิ่นอื่น ๆ ไว้ด้วย 
        
        2)  เป็นภาษาที่ได้รับการรวบรวมหลักเกณฑ์ระเบียบของภาษาไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นักวิชาการจะต้อง จัดทำพจนานุกรมและตำราหลักภาษาไว้เป็นหลักในการตรวจสอบ และผู้ใช้ยอมรับ ในหลักของภาษา มีการสอน ให้ผู้ใช้ ้รู้หลักเกณฑ์การเขียน การอ่านให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 

        3)  เป็นภาษาที่ใช้ได้ทุกวงการและทุกสาขาอาชีพ เป็นภาษาที่คนหลายกลุ่มหลายหน้าที่นำไปใช้ได้ และผู้ใช้ภาษา เข้าใจตรงกันทั้งการพูดและการเขียน เช่น ในศาล ในรัฐสภา ในวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ การเมืองการปกครอง วิชาการแขนงต่าง ๆ ศิลปกรรม ดนตรีนาฏศิลป์ วรรณคดี และวรรณกรรม เป็นต้น 

        4)  เป็นภาษาที่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของสังคม และเทคโนโลยี มีการเพิ่มคำด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทับศัพท์ การประสมคำ หรือบัญญัติศัพท์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการใช้และสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย 
               
         5)  เป็นภาษาที่เป็นที่ยอมรับของคนถิ่นอื่นว่าเป็นภาษาประจำชาติเป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่าง จากภาษาถิ่นทั่วไป เป็นเอกลักษณ์ของชาติ สร้างความภูมิใจแก่คนในชาติ

ภาษาเฉพาะวงการ  เป็นภาษาย่อยที่เกิดจากการใช้ภาษาสื่อสารตามกลุ่มสังคม ตามหน้าที่การงาน หรืออาชีพของผู้ใช้ภาษา การติดต่อสื่อสารของบุคคลที่อยู่ในวงการเดียวกัน หรืออาชีพเดียวกัน มักจะใช้ถ้อยคำภาษาที่มีลักษณะเฉพาะวงการหรือเฉพาะกลุ่มของตนเอง เช่น ภาษาวัยรุ่น  ภาษากีฬา ภาษาการเมือง ภาษากฎหมาย ภาษาธุรกิจ ภาษาโฆษณา เป็นต้น ซึ่งแต่ละบุคคลจะเลือกใช้ถ้อยคำ  ตามความเหมาะสมตามสถานการณ์และบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งถ้อยคำเฉพาะวงการจะใช้สื่อสาร ทำความเข้าใจกันได้ดีในวงการเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน
ตัวอย่างถ้อยคำในภาษาเฉพาะวงการ
ภาษาเฉพาะวงการ
ตัวอย่างคำ
1.  ภาษาวัยรุ่น (คล้ายกับคำสแลงย่อมใช้กันชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็หายไปและจะมีคำใหม่มาแทนอยู่เรื่อย ๆ )
กิ๊ก บ้าน งี๊ด แป๊ก เมี้ยน รั่ว สาด ห่าน เหียก ชี  ซิล  เซลฟ์  วีน  แอ็บ  แอ๊บแบ๊ว  เฟิร์ม   แคน   นอย   เกรียน สก๊อย  เด็กแว้นเป็นต้น
2.  ภาษากีฬาฟุตบอล
กองหน้า กองกลาง กองหลัง ปีกซ้าย ปีกขวา ฮาล์ฟซ้าย ฮาล์ฟขวา เซนเตอร์ฮาล์ฟ แบ็กซ้าย แบ็กขวา ผู้รักษาประตู มิดฟิลด์ สวีปเปอร์ เกมรุก เกมรับ ยิงทางเสาใกล้ ยิ่งทางเสาไกล ยิงมุมแคบ ยิงมุมกว้าง เข้าชาร์จ เข้าสกัด สไลด์ลูก เลี้ยงลูก ผ่านลูก ผ่านลูกสั้น ผ่านลูกยาว ชิพลูก เตะลูกกินเปล่า เตะวอลเลย์ ดีดลูกส้น ยิงลูกไซด์โค้ง เป็นต้น
3.  ภาษากฎหมายข้อหา ของกลาง คดี คดีดำ คดีแดง คดีถึงที่สุด คดีแพ่ง คดีอาญา คดีมโนสาเร่ คดีอุกฉกรรจ์ ความผิดอาญาแผ่นดิน ความรับผิดชอบ ในการรอนสิทธิ์ คำฟ้อง คำให้การ
คำพิพากษา จำนอง จำนำ เช่าซื้อ เช่าทรัพย์ ตกทอดแก่แผ่นดิน ถอนฟ้อง ถือสิทธิ์ ทรัพย์สิทธิ ทรัพย์ส่วนบุคคล ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ นิติกรรมอำพราง นิรโทษกรรม บังคับคดี ปิดคดี ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้สืบสันดาน หมายจับ หมายเรียก เอกสารสิทธิ อนุญาโตตุลาการ เป็นต้น
4.  ภาษาธุรกิจ

การเปิดตลาด การทุ่มตลาด การขายตัดราคา การผูกขาด เขตการค้าเสรี ค่าเสื่อมราคา เงินดาวน์ เงินผ่อน เงินสด เงินปันผล เงินฝืด เงินเฟ้อ ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ตลาดเงิน ตลาดมืด ตลาดสด ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหุ้น ตลาดทุน ตลาดนัด ตลาดร่วม ตัวแทนจำหน่าย กักตุนสินค้า ขายทอดตลาด ทำเลการค้า ทุนทรัพย์ ทุนเรือนหุ้น ทุนสำรอง ทุนหมุนเวียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน โบนัส แป๊ะเจี๊ยะ ปั่นหุ้น เปิดบัญชี ไฟแนนซ์ ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าเข้า สินค้าออก โสหุ้ย อำนาจซื้อ เป็นต้น
5.  ภาษาแพทย์ (ส่วนใหญ่จะใช้คำทับศัพท์/ภาษาคำย่อภาษาอังกฤษ)
ซีซียู  ไซริ้ง   ดีซีส  ซีทีสแกน ฟอร์เซฟ  นีดเดิล วอร์ด  สะเต๊ต  อีอาร์  อีเคโอ  แอดมิท ไอซียู โออาร์  โอพีดี  ฮาร์ท   เป็นต้น
6.  ภาษานักชนไก่
เกล็ดดี  อุ้มไก้แพ้  ดีดแต่หัวที  ขันนอกเปาะ  หย้ำไม่ถึงน้ำ  ชนปล่อยเดือย  ไก่ดีตีหล้า ๆ  ไก่ขี้ข้าตีหัวที  เป็นต้น

(ที่มา:http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter4)