วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน

กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์

 กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน(กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์)เป็นกาพย์เห่เรือที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ซึ่งพรรณนาเกี่ยวกับอาหารคาวหวานในวัง โดยใช้การบรรยายเนื้อหาเยี่ยงนิราศ คือการรำพึงรำพันถึงสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี โดยนำเอาชื่ออาหาร ลักษณะ ส่วนประกอบ หรือความสัมพันธ์มาเชื่อมโยงเข้ากับการรำพึงรำพันนั้น นอกจากนี้ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ยังเป็นวรรณคดีที่มุ่งเน้นความงดงามไพเราะของวรรณคดีเหนือสิ่งอื่นใด มีการใช้โวหารและภาษาที่สละสลวย ตลอดจนการอุปมาเพื่อสื่อถึงรสชาติและฝีมือในการปรุงอาหารของนางอันเป็นที่ รัก และการนำชื่ออาหารซึ่งสื่อถึงความในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศ หล้านภาลัยในความสุขจากการใกล้ชิดหรือโศกเศร้าจากการพรากจากนางอันเป็นที่ รักได้อย่างกลมกลืน ชื่ออาหารหลายชนิดในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน เป็นอาหารโบราณที่หารับประทานได้ยาก เนื่องจากมีวิธีการปรุงที่ยาก และต้องใช้ความประณีตในการทำเป็นอย่างมาก เช่นหรุ่ม ล่าเตียง เป็นต้น ซึ่งจากวรรณคดีเรื่องนี้ก็ทำให้มีผู้นำอาหารโบราณหลายชนิดมารื้อฟื้นฝึกปรุง ใหม่กันอีกด้วย 


กาพย์เห่ชมเครื่องคาว

 

 กาพย์เห่ชมเครื่องหวาน
 

 กาพย์เห่ชมผลไม้

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

นิราศลอนดอน

นิราศลอนดอน เป็นนิราศที่แต่งโดย หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร)

ประวัติ

เมื่อปี พ.ศ. 2398 สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร ได้ทรงแต่งตั้งให้ เซอร์ จอห์น เบาริง เป็นราชทูตเชิญพระราชสาร และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชักชวนให้ประเทศไทย (กรุงสยามในสมัยนั้น) ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งก็คือ สนธิสัญญาเบาริง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) พร้อมด้วยคณะ เชิญพระราชสาร และเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย เมื่อปี พ.ศ. 2400
หม่อมราโชทัย หรือ (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ซึ่งในขณะได้รับตำแหน่งเป็นล่ามไปกับคณะราชทูตชุดนี้ทำให้มีโอกาส ได้เขียนจดหมายเหตุการณ์เดินทาง จนกระทั่งมาเป็นนิราศลอนดอน

ลักษณะการประพันธ์

แต่งโดยใช้กลอนนิราศ ในรูปแบบจดหมายเหตุการณ์เดินทางแล้วตามด้วยบทร้อยกรอง

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

เพื่อพรรณนาและบรรยาย ถึงเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเดินทางของผู้แต่ง

เนื้อเรื่องย่อ

คณะราชทูตไทยอัญเชิญพระราชสาร พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียณ พระราชวังวินเซอร์ (พระราชวังประจำฤดูหนาว) ซึ่งทำให้ได้รับผลดีคือมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาใหม่ โดยที่ไทยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากนั้นคณะราชทูตไทยได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำและน้ำชาและได้พักค้างแรม ณ พระราชวังวินเซอร์ 1 คืน ต่อมาจึงได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ เช่น โรงพยาบาล โรงงานทำเหรียญกษาปณ์ ป้อมศาสตราวุธแห่งลอนดอน
มงกุฎกษัตริย์อังกฤษซึ่งมีเพชรขนาดใหญ่เท่าไข่นกพิราบประดับอยู่และพระราชวังบัคกิงแฮม (พระราชวังประจำฤดูร้อน)

คุณค่าทางวรรณศิลป์

  1. มีกลวิธีดำเนินเรื่องเป็นไปตามลำดับเวลาและสถานที่
  2. มีการเลือกใช้คำซึ่งมีทั้งคำราชาศัพท์ คำภาษาต่างประเทศ จนถึงคำที่ใช้ในร้อยกรองทั่วไป
  3. ได้มีการใช้ภาษาที่แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก สอดแทรกไว้ในเนื้อความบางตอน
  4. มีการใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้การพรรณนาบรรยายในเนื้อเรื่องออกมาอย่างชัดเจน
  5. เนื้อหามีลักษณะเป็นสารคดีปนอยู่ด้วย
  6. มีการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่เคยและไม่เคยพบเห็น รวมทั้งมีการใช้ภาษาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

คุณค่าทางสังคม

  1. เหตุการณ์ในนิราศลอนดอนถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของไทยก่อนที่ไทยจะเปิดประตูบ้านรับอารยธรรมจากต่างประเทศเข้ามาซึ่งเป็นสิ่งที่วางรากฐานตามความเจริญของบ้านเมืองต่อมา
  2. สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตและสังคมของประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษกับไทย
  3. สะท้อนฐานะของไทยในสายตาต่างชาติ

คณะราชทูตไทย

คณะราชทูตไทยที่เดินทางไปเจริญราชไมตรี ณ ประเทศอังกฤษในครั้งนี้ประกอบด้วย

ทูต

  • พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ราชทูต)
  • เจ้าหมื่นสรรเพชญภักดี (อุปทูต)
  • จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ตรีทูต)

ล่าม

  • หม่อมราโชทัย (ล่ามหลวง)
  • ขุนปรีชาชาญสมุทร
  • ขุนจรเจนทะเล

ผู้ควบคุมเครื่องราชบรรณาการ

  • หมื่นราชามาตย์
  • นายพิจารณ์สรรพกิจ

ข้อมูลที่น่าสนใจ

  • มิสเตอร์เฟาล์ มีชื่อจริงๆ ว่า “มิสเตอร์เอดวาร์ด เฟาล์” เดิมเคยอยู่พม่าเป็นผู้ที่รัฐบาลอังกฤษจัดการให้เป็นผู้สันทัดธรรมเนียมไทย เป็นผู้ดูแลอยู่กับคณะราชทูตไทย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มิสเตอร์เฟาล์ ได้เป็นหลวงสยามานุเคราะห์ ตำแหน่งกงสุลสยาม ณ เมืองย่างกุ้งและอยู่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
  • เยนเนอรัลกัส หรือ พลตรีเซอร์ เอดวาร์ด คัส เป็นเจ้าพนักงานการพระราชพิธี
  • ลอร์ดกราท่า หรือ ลอร์ด กลาเรนดอน ผู้สำเร็จราชการฝ่ายกราท่า ฝ่ายต่างประเทศของอังกฤษคณะราชทูต
  • หมอบรัดเลย์ ซื้อลิขสิทธิ์นิราศลอนดอนไปเมื่อปี พ.ศ. 2405 นับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกในประเทศไทยที่มีการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์
  • กรองทอง คือ ผ้าโปร่งอันทอ หรือถักด้วยเส้นลวดทองหรือไหมทอง
  • กษัตริย์สอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พระธโรน คือ บัลลังก์ที่ประทับกษัตริย์ มาจากภาษาอังกฤษว่า “ throne”
  • เพชรเม็ดใหญ่ เป็น เพชรประดับมงกุฎกษัตริย์แห่งอังกฤษมีชื่อว่า “โกอินัวร์” มีขนาดใหญ่เท่าไข่นกพิราบ
  • ราชสามิศ พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินี
  • ราชสารสุวรรณ คือ พระราชสารที่จารึกบนใบลานทองเป็นพระราชสารของพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามทั้ง 2 พระองค์
  • กัปตันเกลเวอริง กัปตันเรือกาเรดอก ที่ทูตไทย ขอให้อยู่ร่วมกับคณะราชทูต
  • รัถา ใช้แปลว่า รถ
  • ขวดเฟือง เป็นขวดที่หล่นเป็นพู เป็นเหลี่ยม ไม่กลมเรียบตลอด
  • เครื่องต้น เป็นเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ สิ่งของที่กษัตริย์ทรงใช้
  • ฮูโร ที่ใช้มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า hurrah เทียบได้กับ “ไชโย” ของไทย

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

ผู้แต่ง                   เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร  ไชยเชษฐสุริยวงศ์
ชื่อเล่น                “เจ้าฟ้ากุ้ง”
ประสูติ                 พ.ศ. ๒๒๔๘
สิ้นพระชนม์        พ.ศ.๒๒๙๘  (สาเหตุถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มหรือเจ้าฟ้าสังวาล  ซึ่งพระสนมของพระราชบิดา จึงถูกพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์)
ผลงานที่ทรงพระนิพนธ์
                เพลงยาวบางบท    บทเห่เรือกากี ๓ ตอน  กาพย์เห่เรือ
                กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง  พระมาลัยคำหลวง
               กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก  นันโทปนันสูตรคำหลวง
                บทเห่สังวาสและบทเห่ครวญ อย่างละบท
ลักษณะการแต่ง
                แต่งด้วยกาพย์ห่อโคลง  ประกอบด้วยกาพย์ยานี ๑๑  มี ๑๐๘ บทและโคลงสี่สุภาพ  ๑๑๓ บท ปิดท้ายด้วยโคลงสี่สุภาพ ๒ บท
                ลักษณะของกาพย์ห่อโคลงคือขึ้นต้นด้วยกาพย์ยานี ๑๑  ๑ บท ตามด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท  ใจความเหมือนกัน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
                เพื่อความเพลิดเพลินในการชมธรรมชาติระหว่างการเดินทางไปพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
สาระสำคัญของเรื่อง
                ตอนต้นกล่าวถึงกระบวนเสด็จ  พรรณนาสัตว์ป่าตามสภาพของมัน  พรรณนาพวกนก  พรรณนาพันธุ์ไม้  พรรณนาลำธารและปลา   และพรรณนาความสนุกรื่นรมย์ที่ธารทองแดง
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒


                          เที่ยวเล่นเป็นเกษมสุข              แสนสิ่งสนุกปลุกใจหวัง
                เร่ร่ายผายผาดผัง                              หัวริกรื่นชื่นชมไพร
                          สนุกเกษมเปรมหน้าเหลือบ        ลืมหลัง
                แสนสนุกปลุกใจหวัง                          วิ่งหรี้
                เดินร่ายผายผันยัง                               ชายป่า
                หัวร่อรื่นชื่นชี้                                   ส่องนิ้วชวนแล
                ถอดความ : การเที่ยวเล่นในครั้งนี้ช่างมีความสุข สนุกสนานเหลือเกิน เดินอย่างรวดเร็วเข้าไปในป่า  หัวเราะกระซิกกันอย่างสดชื่นรื่นเริง  โดยการชี้ชวนให้ชมธรรมชาติต่างๆ


                          เลียงผาอยู่ภูเขา                     หนวดพรายเพราเขาแปล้ปลาย
                รูปร่างอย่างแพะหมาย                         ขนเหม็นสาบหยาบเหมือนกัน
                          เลียงผาอยู่พ่างพื้น             ภูเขา
                หนวดพู่ดูเพราเขา                              ไปล่ท้าย
                รูปร่างอย่างแพะเอา                             มาเปรียบ
                ขนเหม็นสาบหยาบร้าย                    กลิ่นกล้าเหมือนกัน          
                ถอดความ : เลียงผาอยู่บนภูเขา  มีรูปร่างคล้ายแพะ  มีหนวดงาม  ปลายเขาโค้งไปข้างหลัง ขนหยาบและมีกลิ่นเหม็นสาบ เช่นเดียวกับแพะ

                          กระจงกระจิดเตี้ย                       วิ่งเรี่ยเรี่ยน่าเอ็นดู
                เหมือนกวางอย่างตาหู                             มีเขี้ยวน้อยสร้อยแนมสอง
                         กระจงกระจิดหน้า                              เอ็นดู
                เดินร่อยเรี่ยงามตรู                                      กระจ้อย
                เหมือนกวางอย่างตาหู                                ตีนกีบ
                มีเคี่ยวขาวน้อยช้อย                                     แนบข้างเคียงสอง
                ถอดความ :  กระจงเป็นสัตว์ที่มีตัวขนาดเล็ก  มองดูน่ารักน่าเอ็นดู  มีตาหูและตีนกีบเหมือนกวาง  มีเขี้ยวน้อยสีขาว  ๒ เขี้ยว  แต่ไม่มีเขา

                        ฝูงลิงใหญ่น้อยกระจุ้ย                   ชะนีอุ่ยอุ้ยร้องหา
                ฝูงค่างหว่างพฤกษา                                ค่างโจนไล่ไขว่ปลายยาง
                         ฝูงลิงยวบยาบต้น                 พวาหนา
                ฝูงชะนีมี่กู่หา                                                เปล่าข้าง
                ฝูงค่างหว่างพฤกษา                                   มาสู่
                ครอกแครกไล่ไขว่คว้าง                                โลดเลี้ยวโจนปลิว
                ถอดความ :  ฝูงลิงขย่มต้นมะม่วงอยู่ยวบยาบ  ฝูงชะนีร้องกู่หาคู่ของมัน  ฝูงค่างกระโดดไปมาระหว่างต้นไม้  ฝูงลิงต่างพากันร้องขู่ตะคอก พร้อมทั้งกระโดดไล่ไขว่คว้ากัน
 
                      งูเขียวรัดตุ๊กแก                               ตุ๊กแกแก่คางแข็งขยัน
                กัดงูงูยิ่งพัน                                               อ้าปากง่วงล้วงตับกิน
                        งูเขียวแลเหลื้อมพ่น                           พิษพลัน
                ตุ๊กแกคางแข็งขยัน                                   คาบไว้
                กัดงูงูเร่งพัน                                                   ขนดเครียด
                ปากอ้างูจึงได้                                                      ลากล้วงตับกิน
                ถอดความ :  งูเขียวตัวเป็นเงามันแต่ไม่มีพิษ ถูกตุ๊กแกคาบไว้  ในขณะเดียวกันงูเขียวก็รัดตุ๊กแกจนต้องอ้าปาก และเข้าไปล้วงตับตุ๊กแกกินเป็นอาหาร

                                ยูงทองย่องเยื้องย่าง                       รำรางชางช่างฟ่ายหาง
                ปากหงอนอ่อนสำอาง                               ช่างรำเล่นเต้นตามกัน
                                ยูงทองย่องย่างเยื้อง                            รำฉวาง
                รายร่ายฟ่ายเฟื่องหาง                                          เฉิดหน้า
                ปากหงอนอ่อนสำอาง                                        ลายเลิศ
                รำเล่นเต้นงามหง้า                                              ปีกป้องเป็นเพลง
                ถอดความ :  นกยูงทองย่องเยื้องย่าง  แล้วรำแพนหางเชิดหน้าขึ้น  เห็นปากงอนอ่อนช้อย แสดงอาการรำเล่นด้วยการยกปีกขึ้นป้องตามเพลง

                                ไก่ฟ้าอ้าสดแสง                        หัวสุกแดงแทงเดือยแนม
                ปีกหางต่างสีแกม                                       สีแต้มต่างอย่างวาดเขียน
                                ไก่ฟ้าหน้าก่ำกล้า                            ปากแหลม
                หัวแดงเดือยแนม                                 เนื่องแข้ง
                ปีกหางต่างสีแกม                                 ลายลวด
                ตัวด่างอย่างคนแกล้ง                                           แต่งแต้มขีดเขียน
                ถอดความ :  ไก่ฟ้าหน้าสุกใสมีปากแหลม  หัวมีสีแดง  กำลังแทงเดือยขึ้นมา  ปีกหางและลำตัวมีลวดลายงามเหมือนอย่างคนแกล้งแต่งสีให้มัน
 
                                ดูหนูสู่รูงู                                 งูสุดสู้หนูสู้งู
                หนูงูสู้ดูอยู่                                               รูปงูทู่หนูมูทู
                                ดูงูขู่ฝูดฝู้                                                พรูพรู
                หนูสู่รูงูงู                                                      สุดสู้
                งูสู้หนูหนูสู้                                               งูอยู่
                หนูรู้งูงูรู้                                                              รูปถู้มูทู
                ถอดความ :  งูขู่หนูฟู่ๆ เพราะหนูจะเข้าไปในรูงู  งูจึงสู้กับหนู หนูก็สู้กับงู  สัตว์ทั้งสองต่างก็รู้เชิงซึ่งกันและกัน  โดยทำเป็นมู่ทู่ใส่กัน

                                นกแก้วแจ้วเสียงใส                      คลอไคล้คู่หมู่สาลิกา
                นกตั้วผัวเมียคลา                                        ฝ่าแขกเต้าเหล่าโนรี
                                นกแก้วแจ้วรี่ร้อง                                 เร่หา
                ใกล้คู่หมู่สาลิกา                                                   แวดเคล้า
                นกตั้วผัวเมียมา                                                    สมสู่
                สัตวาฝ่าแขกเต้า                                   พวกพ้องโนรี
                ถอดความ :  นกแก้วร้องแจ้วๆ  เร่ หาคู่  โดยเข้าไปใกล้หมู่นกสาลิกา  ส่วนนกกระตั้ว ๒ ตัวผัวเมียกำลังสมสู่กันอยู่  ในขณะที่นกสัตวาจะต้องฝ่านกแขกเต้าเข้าไปหานกโนรี ซึ่งเป็นพวกพ้องของมัน

                                กระจายสยายซร้องนาง                  ผ้าสไบบางนางสีดา
                ห่อห้อยย้อยลงมา                                      แต่ค่าไม้ใหญ่สูงงาม
                                กระจายสยายคลี่ซร้อง                        นงพงา
                สไบบางนางสีดา                                 ห่อห้อย
                ยื่นเลื้อยเฟื้อยลงมา                                              โบยโบก
                แต่ค่าไม้ใหญ่น้อย                                               แกว่งเยื้องไปมา
                ถอดความ :  ต้นซ้องนางคลี่  และสไบนางสีดา ต่างก็ยื่นเลื้อยห้อยลงมา  แต่ค่าคบไม้น้อยใหญ่  เมื่อยามลมพัดจะแกว่งไปมาดูสวยงามนัก

                                 หัวลิงหมากลางลิง                        ต้นลางลิงแลหูลิง
                ลิงไต่กระไดลิง                                         ลิงโลดคว้าประสาลิง
                                หัวลิงหมากเรียกไม้                            ลางลิง
                ลางลิงหูลิงลิง                                       หลอกขู้
                ลิงไต่กระไดลิง                                    ลิงห่ม
                ลิงโลดฉวยชมผู้                                   ฉีกคว้าประสาลิง
                ถอดความ :  เถาหัวลิง  ต้นหมากลิง และลิงบางตัวก็ขั้นต้นหูลิงทำหน้าหลอกคู่ของมัน  บ้างก็ขึ้นไต่กระไดลิงขย่มเล่น  บ้างก็ตะโกนฉวยชมพู่คว้ามาฉีกเล่นตามภาษาลิง

                                ธารไหลใสสะอาด                        มัจฉาชาติดาษนานา
                หวั่นว่ายกินไคลคลา                                  ตามกันมาให้เห็นตัว
                                ธารไหลใสสะอาดน้ำ                         รินมา
                มัจฉาชาตินานา                                   หวั่นหว้าย
                จอกสร่ายกินไคลคลา                                          เชยหมู่
                ตามคู่มาคล้ายคล้าย                                             ผุดให้เห็นตัว
                ถอดความ :  น้ำในลำธารใสสะอาดไหลรินมา  หมู่ปลานานาชนิด  ต่างหากันว่ายไปมา  กินจอกและสาหร่าย  โดยว่ายตามกันมาเป็นคู่ๆ  และผุดให้เห็นตัวด้วย

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

พระอภัยมณี


พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๒๓๖๖ และแต่งๆ หยุดๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. ๒๓๘๘ รวมเวลามากกว่า ๒๐ ปี
เนื้อเรื่องของ พระอภัยมณี ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครพระอภัยมณี นับแต่อายุได้ ๑๕ ปีและออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีไทยอื่นๆ แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามา มิใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ การเป่าปี่ ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น เขากับน้องชายคือ ศรีสุวรรณ ระเหเร่ร่อนไปจนเจอกับสามพราหมณ์ ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป มีบุตรชายชื่อสินสมุทร พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยังเกาะแก้วพิสดาร เขามีบุตรกับอมนุษย์อีกครั้งคือกับนางเงือก ได้บุตรชายชื่อสุดสาคร ต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือนางสุวรรณมาลี แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้เมื่อ นางละเวงวัณฬา ลูกสาวเจ้ากรุงลังกาซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสาวสวย ตกหลุมรักกับพระอภัยมณีเสียเอง หลังสงคราม พระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีกับนางละเวงออกบวชด้วย เรื่องราวในช่วงหลังของ พระอภัยมณี เป็นการผจญภัยของรุ่นลูกๆ ของพระอภัยมณี โดยมีสุดสาครกับนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวของสุดสาครโดยเฉพาะในช่วง กำเนิดสุดสาคร (พระอภัยมณี ตอนที่ ๒๔-๒๕) นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากอีกชุดหนึ่ง
พระอภัยมณี จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องของพระอภัยมณีแหวกประเพณีของวรรณคดีในยุคเก่า มีจินตนาการล้ำยุคอยู่มากมาย และมีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง ความเป็นนักคิดยุคใหม่ของผู้ประพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี นักวิชาการจำนวนมากพากันศึกษากลอนนิทาน พระอภัยมณี เพื่อค้นคว้าหาแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงแนวคิดของสุนทรภู่กับวรรณกรรมโบราณ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุคใหม่ของบรรดานักเดินเรือที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคการค้าสำเภา นอกจากนี้ แนวคิดที่สุนทรภู่สอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมาก เพราะผู้คนล้วนใช้บทกลอนเหล่านั้นเป็นคติสอนใจ เช่น บทกลอนในช่วงที่พระฤๅษีสอนสุดสาคร เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ พระอภัยมณี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยโรงพิมพ์ของหมอสมิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมของเรื่องมีมากขนาดที่หมอสมิทสามารถจำหน่ายนิทานคำกลอนเรื่องนี้ขายดิบขายดีจนมีเงินสร้างตึกได้ ในยุคต่อมา มีการดัดแปลงและถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นนี้ออกไปในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องเล่าร้อยแก้ว การ์ตูน รวมทั้งภาพยนตร์ และละคร บทกลอนหลายช่วงในเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในแบบการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคติสอนใจที่ผู้คนทั่วไปจดจำกันได้

ประวัติ

ไม่มีที่ใดบันทึกไว้ชัดเจนว่า สุนทรภู่เริ่มแต่ง พระอภัยมณี ขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการพิเคราะห์สำนวนกลอนและการกล่าวอ้างถึงในผลงานชิ้นอื่นๆ ของสุนทรภู่ นักวิชาการคาดว่าสุนทรภู่น่าจะเริ่มแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อคราวต้องโทษติดคุก (คาดว่าประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๓๖๖) โดยค่อยแต่งทีละเล่มสองเล่มเรื่อยไป และยังแต่งๆ หยุดๆ เป็นหลายครั้ง ในตอนแรกเขียนจบไว้ที่ ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีรับสั่งให้แต่งต่อ ในที่สุดจึงได้ความยาวถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย ทว่านักวรรณคดีบางท่านเสนอความเห็น ว่าในเล่มหลังๆ อาจไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่เพียงคนเดียว คาดว่าสุนทรภู่หยุดแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๘๘ หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ใช้เวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้นมากกว่า ๒๐ ปี


ลักษณะคำประพันธ์


คำประพันธ์ในเรื่อง พระอภัยมณี เป็นกลอนสุภาพทั้งหมด ด้วยเป็นความถนัดอย่างพิเศษของกวีผู้นี้ ภาษาที่ใช้มีความเรียบง่ายตามแบบฉบับของสุนทรภู่ มีสัมผัสในไพเราะงดงามโดยตลอด ทำให้เป็นที่นิยมอ่านเรื่อยมาแม้ในปัจจุบัน
พระอภัยมณี ตามฉบับพิมพ์ของหอพระสมุด มีความยาวทั้งสิ้น 24,500 คำกลอน คิดเป็นจำนวนคำตามวจีวิภาคได้ 392,000 คำ[3] นับเป็นหนังสือกลอนขนาดมหึมา มีโครงเรื่องย่อยๆ แทรกไปตลอดทาง คือจากเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่เหตุและผลอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะงานเขียนที่สามารถเขียนไปได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ดีอาจนับเหตุการณ์สำคัญหรือไคลแมกซ์ของเรื่องได้ ในตอนทัพลังกากับทัพพระอภัยมณีรบกันจนถึงขั้นเด็ดขาด ต้องแหลกลาญกันไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่สุนทรภู่ก็สามารถคลี่คลายไคลแมกซ์นี้ได้อย่างสวยงาม
เรื่อง พระอภัยมณี แบ่งบทประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 64 ตอน มีชื่อตอนดังต่อไปนี้
  1. พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
  2. นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
  3. ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
  4. ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
  5. ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
  6. ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
  7. ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
  8. อภิเษกศรีสุวรรณ
  9. พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
  10. พระอภัยมณีได้นางเงือก
  11. นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
  12. พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
  13. พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
  14. พระอภัยมณีเรือแตก
  15. สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
  16. สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
  1. ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
  2. พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
  3. พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
  4. สินสมุทรรบกับอุศเรน
  5. พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
  6. พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
  7. พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
  8. กำเนิดสุดสาคร
  9. สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
  10. อุศเรนตีเมืองผลึก
  11. เจ้าละมานตีเมืองผลึก
  12. สุดสาครตามพระอภัยมณี
  13. ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
  14. พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
  15. พระอภัยมณีพบนางละเวง
  16. ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
  1. ย่องตอดสะกดทัพ
  2. นางละเวงคิดหย่าทัพ
  3. พระอภัยมณีติดท้ายรถ
  4. พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
  5. ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกทำเสน่ห์
  6. นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
  7. นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
  8. สุดสาครถูกเสน่ห์
  9. นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
  10. หัสไชยแก้เสน่ห์
  11. นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
  12. กษัตริย์สามัคคี
  13. นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
  14. พระอภัยมณีกลับเมือง
  15. อภิเษกสินสมุทร
  16. นางเสาวคนธ์หนี
  1. นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
  2. นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
  3. สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
  4. พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
  5. มังคลาครองเมืองลังกา
  6. มังคลาชิงโคตรเพชร
  7. มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
  8. หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
  9. สุดสาครรบกับมังคลา
  10. นางละเวงช่วยนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
  11. พระอภัยมณี ศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
  12. พระอภัยมณีรบกับมังคลา
  13. สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
  14. พระอภัยมณีเข้าเมืองลังกา
  15. อภิเษกหัสไชย
  16. พระอภัยมณีออกบวช
หลังเหตุการณ์พระอภัยมณีออกบวช มีผู้แต่งเรื่องต่อออกไปอีก เช่น นางเงือกได้ตัดหางและกลายเป็นมนุษย์ แต่นั่นไม่ใช่งานประพันธ์ของสุนทรภู่ ในฉบับพิมพ์ของหอพระสมุดจึงย่อเนื้อหาส่วนหลังเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วบรรจุไว้ท้ายเล่ม

กาพย์

กาพย์ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับจำนวนคำและสัมผัส จัดวรรคต่างจากกลอนและไม่บังคับเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค ไม่มีบังคับเอก-โทเหมือนโคลง และไม่มีบังคับครุและลหุเหมือนฉันท์

ความเป็นมาของกาพย์


าพย์ มีที่มาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นคำประพันธ์เดิมของไทย หรือรับมาจากชาติอื่น ตำรากาพย์เก่าแก่ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ กาพย์สารวิลาสินี และ กาพย์คันธะ แต่งเป็นภาษาบาลี ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง แต่สันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และเปลี่ยนแปลงมาจากกาพย์มคธเป็นกาพย์ไทยโดยบริบูรณ์ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

การจำแนกชนิดของกาพย์

กาพย์ในคัมภีร์กาพย์

ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและกาพย์คันถะ กำหนดคำประพันธ์ชนิด กาพย์ ไว้ ๘ ชนิด คือ กาพย์พรหมคีติ กาพย์มัณฑุกคติ กาพย์ตุรงคธาวี กาพย์มหาตุรงคธาวี กาพย์กากคติ ในกาพย์สารวิลาสินี และกาพย์ตรังควชิราวดีหรือกาพย์ตรังคนที กาพย์มหาตรังคนที และกาพย์ทัณฑิกา ในกาพย์คันถะ
นอกจากนี้ใน ประชุมลำนำ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ได้แสดงกาพย์อีกชนิดหนึ่งชื่อ กาพย์ภุชงคลิลา มาจากคัมภีร์กาพย์สารจินดา

กาพย์ที่นิยมแต่งกันทั่วไป

กาพย์ที่กวีนิยมใช้ในวรรณกรรม มี 3 ชนิด คือ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และ กาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกว่ากาพย์ดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในตำรากาพย์เลย นอกจากนี้ กาพย์ทั้ง 9 ชนิดในตำรากาพย์ก็ไม่ปรากฏในวรรณกรรมเช่นกัน

กาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

  • พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงประดิษฐ์กาพย์ขึ้นใหม่เพื่ออธิบายประกอบภาพเรื่อง ศรีธนญชัย ฝีมือวาดภาพของ เหม เวชกร เรียกว่า กาพย์ธนัญชยางค์ ซึ่งทรงประทานคำอธิบายว่าคือ กาพย์สุรางค์คนางค์ ๒๘ เดิมนั่นเอง เพียงแต่เพิ่มเติมอีก 4 คำและเพิ่มสัมผัส กาพย์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒
  • ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้ประดิษฐ์กาพย์ใหม่ใน เพื่อนแก้วคำกาพย์ ชื่อ กาพย์ดอกแคร่วง โดยดัดแปลงจาก เพลงเหย่ย หรือ เพลงดอกแคร่วง
  • ในสมุดไทยเรื่อง หอยสังข์ ปรากฏ กาพย์นางกราย ๒๓ ซึ่งเป็นกาพย์ผสมระหว่ง กาพย์สุรางคนางค์ และกาพย์ยานี เป็นกาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

การใช้กาพย์ในวรรณกรรม

วรรณกรรมที่แต่งด้วยกาพย์เพียงอย่างเดียว

  • กลอนสวด เป็นวรรณกรรมที่แต่งด้วย กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ สลับกันไปตลอดเรื่อง เช่น สังข์ศิลป์ชัย พระรถเมรี สุบินกุมาร พระมาลัย พระไชยสุริยา พระสุธนมโนห์รา ฯลฯ
  • กาพย์เห่กล่อมพระบรรทม ใช้ขับร้องเห่กล่อมพระราชโอรสและพระราชธิดา มีลักษณะเป็นกาพย์ยานี แต่วรรคหลังบางวรรคอยู่ระหว่าง ๕ - ๗ คำ

วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งร่วมกันคำประพันธ์ประเภทอื่น

  • กาพย์แต่งร่วมกับโคลง กวีใช้ กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์ แต่งร่วมกับโคลงสี่สุภาพ แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ และกาพย์ขับไม้ห่อโคลง
  • กาพย์แต่งร่วมกับฉันท์ กวีใช้ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ แต่งร่วมกับฉันท์มาตั้งแต่โบราณ และเรียกวรรณกรรมนั้นว่า คำฉันท์ วรรณกรรมคำฉันท์ที่เก่าที่สุดอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ และฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ส่วนตัวอย่างฉันท์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้แก่ อิลราชคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น
  • กาพย์แต่งร่วมกับร่าย กวีนำเอากาพย์ยานีและกาพย์ฉบังมาแต่งสลับกับร่ายยาวเป็นบทสำหรับพากย์หนังใหญ่ และพากย์โขน โดยใช้กาพย์เป็นบทพากย์ และใช้ร่ายเป็นบทเจรจา เรียกว่าวรรณกรรม คำพากย์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งแทรก

  • คำหลวง วรรณกรรมคำหลวงของไทยมี ๕ เรื่องได้แก่ มหาชาติคำหลวง พระมาลัยคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนลคำหลวง และลิลิตคำหลวง ซึ่งนักปราชญ์ราชกวีได้ร่วมกันรจนาขึ้น จึงมักบรรจุคำประพันธ์ทุกชนิดในวรรณกรรมคำหลวง รวมทั้งกาพย์ด้วย
  • กวีวัจนะ เป็นชื่อเรียกพระนิพนธ์เรื่อง สามกรุง ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีลักษณะการนำเอาฉันทลักษณ์ไทยทุกชนิดมาแต่งรวมกัน
กวีผู้ชำนาญเชิงกาพย์

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

กวีที่ได้รับยกย่องว่าสร้างสรรค์ผลงานด้านกาพย์มากที่สุดคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง กรมพระราชวังบวรฯ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ งานพระราชนิพนธ์มี ๘ เรื่อง คือ กาพย์เห่เรือ ๔ บท กาพย์เห่เรื่องกากี ๓ ตอน กาพย์เห่สังวาสและเห่ครวญ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง นันโทปสันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง และเพลงยาว ในบรรดาพระราชนิพนธ์เหล่านี้ ทรงใช้กาพย์เป็นหลักถึง ๕ เรื่อง
กาพย์ที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงใช้มีเพียงชนิดเดียวคือ กาพย์ยานี ๑๑ ซึ่งทรงเลือกใช้คำได้อย่างเด่น ทำให้เกิดความไพเราะ เสนาะหู ชวนฟัง นอกจากนี้ยังทรงเพิ่มสัมผัสสระในคำที่ ๒ - ๓ ของวรรคแรก และคำที่ ๓ - ๔ ของวรรคหลังอย่างเป็นระบบทำให้เกิดจังหวะอ่านรับกันและเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้น
ตัวอย่างลีลากาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
งามทรงวงดั่งวาดงามมารยาทนาดกรกราย
งามพริ้มยิ้มแย้มพรายงามคำหวานลานใจถวิล
แต่เช้าเท่าถึงเย็นกล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ
ชายใดในแผ่นดินไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ
 กาพย์เห่สังวาส

 

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

ฉันทลักษณ์ไทย

ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ว่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์ และได้ให้ความหมายของ คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือ ร้อยกรองไทย นั่นเอง
ร้อยกรองไทยมีความหมาย 2 นัย นัยหนึ่งหมายถึงการแต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ อีกนัยหนึ่งหมายถึงถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบทบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น กวีนิพนธ์ บทกวี บทประพันธ์ กวีวัจนะ ลำนำ บทกลอน กาพย์กลอน กลอนกานต์ กานต์ รวมทั้งคำว่าฉันท์ กาพย์และกลอนด้วย บทความนี้มุ่งให้ความรู้เรื่องลักษณะบังคับของร้อยกรองไทยเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจคำประพันธ์ไทยต่อไป

ตำราฉันทลักษณ์ไทย
ตำราแต่งร้อยกรองไทยที่ถือเป็นตำราหลักเท่าที่ปรากฏต้นฉบับในปัจจุบัน มีอยู่ 7 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นตำราแต่งกวีนิพนธ์แบบฉบับ ได้แก่

  1. จินดามณี
  2. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน
  3. ชุมนุมตำรากลอน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
  4. ประชุมลำนำ ของ หลวงธรรมาภิมณฑ์
  5. ฉันทศาสตร์ ของ นายฉันท์ ขำวิไล
  6. ฉันทลักษณ์ ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร
  7. คัมภีร์สุโพธาลังการ แปลโดย น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง
การแบ่งฉันทลักษณ์
สุภาพร มากแจ้ง ได้วิเคราะห์ฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยไว้อย่างละเอียดใน กวีนิพนธ์ไทย
ซึ่งกล่าวว่าการแบ่งฉันทลักษณ์อย่างแคบและนิยมใช้อยู่ทั่วไปจะได้ 5 ชนิดใหญ่ ๆ แต่หากรวมคำประพันธ์ท้องถิ่นเข้าไปด้วยจะได้ 10 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่
  1. โคลง
  2. ฉันท์
  3. กาพย์
  4. กลอน
  5. ร่าย
  6. กานต์
  7. ค่าว
  8. กาพย์ (เหนือ)
  9. กาบ (อีสาน)
  10. กอน (อีสาน)
คำประพันธ์ทั้ง 10 ชนิดนี้ ถ้านำมาแบ่งตามลักษณะบังคับร่วมจะได้ 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 ไม่บังคับวรรณยุกต์ ได้แก่ ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย และกานต์
กลุ่มที่ 2 บังคับวรรณยุกต์ ได้แก่ โคลง กอน (อีสาน) กาบ (อีสาน) กาพย์ (เหนือ) และค่าว

ลักษณะบังคับ
หมายถึง ลักษณะบังคับที่มีในคำประพันธ์ไทย ได้แก่
  1. ครุ ลหุ
  2. เอก โท
  3. คณะ
  4. พยางค์
  5. สัมผัส
  6. คำเป็น คำตาย
  7. คำนำ
  8. คำสร้อย

ครุ ลหุ

  • ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) และ สระเกินทั้ง 4 คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น ตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
  • ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วย สระสั้น (รัสสระ) ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ

เอก โท

  • เอก คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก และบรรดาคำตายทั้งสิ้น ซึ่งในโคลง และร่าย ใช้เอกแทนได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ ปู่ ชิ ชะ มัก มาก ฯลฯ
  • โท คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท เช่น น้า ป้า ช้าง นี้น้อง ต้อง เลี้ยว ฯลฯ

คณะ

  • คณะ กล่าวโดยทั่วไปคือแบบบังคับที่วางเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า คำประพันธ์ชนิดนั้น จะต้องมีเท่านั้นวรรค เท่านั้นคำ และต้องมีเอกโท ครุลหุตรงนั้นตรงนี้
  • แต่สำหรับใน ฉันท์ คำว่า คณะ มีความหมายแคบ คือหมายถึง ลักษณะที่วางคำเสียงหนัก เสียงเบา ที่เรียกว่า ครุ ลหุ และแบ่งออกเป็น 8 คณะ คณะหนึ่งมีคำอยู่ 3 คำ เรียง ครุ ลหุ ไว้ต่างๆ กัน
คณะทั้ง 8 นั้น คือ ย ร ต ภ ช ส ม น ชื่อคณะทั้ง 8 นี้ เป็นอักษรที่ย่อมาจากคำเต็ม คือ
ย มาจาก ยชมาน แปลว่า พราหมณ์บูชายัญ
ร มาจาก รวิ แปลว่า พระอาทิตย์
ต มาจาก โตย แปลว่า น้ำ
ภ มาจาก ภูมิ แปลว่า ดิน
ช มาจาก ชลน แปลว่า ไฟ
ส มาจาก โสม แปลว่า พระจันทร์
ม มาจาก มารุต แปลว่า ลม
น มาจาก นภ แปลว่า ฟ้า
กำชัย[1] ได้แต่งคำคล้องจองไว้สำหรับจำ คณะ ไว้ดังนี้
ย ยะยิ้มยวน
ร รวนฤดี
ส สุรภี
ภ ภัสสระ
ช ชโลมและ
น แนะเกะกะ
ต ตาไปละ
ม มาดีดี
เมื่อแยกพยางค์แล้ว จะได้ ครุ-ลหุ เต็มตามคณะทั้ง 8 (ชื่อคณะนี้ ไม่สู้จำเป็นในการเรียนฉันทลักษณ์ไทยนัก เพราะมุ่งจำครุ-ลหุกันมากกว่าจำชื่อคณะ เท่าที่จัดมาให้ดูเพื่อประดับความรู้เท่านั้น)

พยางค์

พยางค์ คือจังหวะเสียง ที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ หรือหน่วยเสียง ที่ประกอบด้วยสระตัวเดียว จะมีความหมาย หรือไม่ก็ตาม คำที่ใช้บรรจุในบทร้อยกรองต่างๆ นั้น ล้วนหมายถึง คำพยางค์ ทั้งสิ้น คำพยางค์นี้ ถ้ามีเสียงเป็น ลหุ จะรวม 2 พยางค์ เป็นคำหนึ่ง หรือหน่วยหนึ่ง ในการแต่งร้อยกรองก็ได้ แต่ถ้ามี เสียงเป็น ครุ จะรวมกันไม่ได้ ต้องใช้พยางค์ละคำ

สัมผัส

สัมผัส คือลักษณะที่บังคับให้ใช้คำคล้องจองกัน คำที่คล้องจองกันนั้น หมายถึง คำที่ใช้สระ และมาตราสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต้องไม่ซ้ำอักษร หรือซ้ำเสียงกัน (สระใอ, ไอ อนุญาตให้ใช้สัมผัสกับ อัย ได้) มี 2 ชนิด คือ สัมผัสนอกและสัมผัสใน
1. สัมผัสนอก ได้แก่คำที่บังคับให้คล้องจองกัน ในระหว่างวรรคหนึ่ง กับอีกวรรคหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งที่ต่างๆ กัน ตามชนิดของคำประพันธ์นั้นๆ สัมผัสนอกนี้ เป็นสัมผัสบังคับ ซึ่งจำเป็นต้องมี จะขาดไม่ได้ ดังตัวอย่าง ที่โยงเส้นไว้ให้ดู เช่น
โคลง
แท้ไทยใช่เผ่าผู้แผ่มหิทธิ์
รักสงบระงับจิตประจักษ์แจ้ง
ไป่รานไป่รุกคิดคดประทุษ ใครเลย
เว้นแต่ชาติใดแกล้งกลั่นร้ายรานไทย
กลอน
มิใช่ชายดอกนะจะดีเลิศหญิงประเสริฐเลิศดีก็มีถม
ชายเป็นปราชญ์หญิงฉลาดหลักแหลมคมมีให้ชมทั่วไปในธาตรี
2. สัมผัสใน ได้แก่ คำที่คล้องจองกัน และอยู่ในวรรคเดียวกัน จะเป็นสัมผัสคู่ เรียงคำไว้ติดต่อกัน หรือจะเป็นสัมผัสสลับ คือเรียงคำอื่น แทรกคั่นไว้ ระหว่างคำที่สัมผัสก็ได้สุดแต่จะเหมาะ ทั้งไม่มีกฎเกณฑ์จำกัดว่า จะต้องมีอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ เหมือนอย่างสัมผัสนอก และไม่จำเป็น จะต้องใช้สระอย่างเดียวกันด้วย เพียงแต่ให้อักษรเหมือนกัน หรือเป็นอักษรประเภทเดียวกัน หรืออักษรที่มีเสียงคู่กัน ก็ใช้ได้ สัมผัสใน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สัมผัสสระและสัมผัสอักษร
2.1 สัมผัสสระ ได้แก่คำคล้องจองที่มีสระและมาตราสะกดอย่างเดียวกัน เช่น
บางน้ำจืดชื่อบางเป็นทางคิดใครมีจิตจืดนักมักหมองหมาง
คนใจจืดชืดชื้อเหมือนชื่อบางควรตีห่างเหินกันจนวันตาย
อันน้ำจืดรสสนิทกว่าจิตมืดถึงเย็นชืดลิ้มรสหมดกระหาย
แต่ใจจืดรสระทมขมมิวายมักทำลายมิตรภาพให้ราบเตียน
จาก นิราศวัดสิงห์
2.2 สัมผัสอักษร ได้แก่ คำคล้องจองที่ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน หรือตัวอักษร ประเภทเดียวกัน หรือใช้ตัวอักษร ที่มีเสียงคู่กัน ที่เรียกว่า "อักษรคู่" เช่น ข ค ฆ หรือ ถ ท ธ เป็นต้น เช่น
ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน คือใช้อักษรตัวเดียวกันตลอดทั้งวรรค ดังนี้
แลลิงลิงเล่นล้อลางลิง
พาเพื่อนเพ่นพ่านพิงพวกพ้อง
ตื่นเต้นไต่ต่อติงเตี้ยต่ำ
ก่นกู่กันกึกก้องเกาะเกี้ยวกวนกัน
ใช้ตัวอักษรประเภทเดียวกัน คือใช้อักษรที่มีเสียงเหมือนกัน แต่รูปไม่เหมือนกัน เช่น ค ฆ ท ธ ร ล ศ ษ ส เป็นต้น ดังนี้
ศึกษาสำเร็จรู้ลีลา กลอนแฮ
ระลึกพระคุณครูบาบ่มไว้
อุโฆษคุณาภาเพ็ญพิพัฒน์
นิเทศธรณินให้หื่นซ้องสาธุการ
ใช้อักษรที่มีเสียงคู่กัน คือใช้อักษรต่ำ ชนิดอักษรคู่ 14 ตัว กับอักษรสูง 11 ตัว ซึ่งมีเสียงผันเข้ากันได้ เป็นคู่ๆ ดังนี้
อักษรต่ำ 14 ตัวอักษรสูง 11 ตัว
ค ฆ
ช ฌ
ซ (ทร-ซ)ศ ษ ส
ฑ ฒ ท ธฐ ถ
พ ภ
ตัวอย่างดังนี้
คูนแคขิงข่าขึ้นเคียงคาง
แฟงฟักไฟฝ่อฝางฝิ่นฝ้าย
ซางไทรโศกสนสางซ่อนซุ่ม
ทิ้งถ่อนทุยท่อมท้ายเถื่อนท้องแถวถิน
สัมผัสในดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ จึงมิได้มีแบบกำหนดมาแต่โบราณ แต่ถ้าไม่มี ก็ขาดรสไพเราะ ซึ่งเป็นยอดของรส ในเชิงฉันทลักษณ์ เพราะฉะนั้น คำประพันธ์ที่ดี จะขาดสัมผัสในเสียมิได้ เหมือนเกสร เป็นเครื่องเชิดชู ความสวยงามของบุปผชาติฉะนั้น

คำเป็นคำตาย

  • คำเป็น คือคำที่ไม่มีตัวสะกดประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในแม่ ก กา และคำที่มีตัวสะกด ในแม่กน กง กม เกย (คำที่มีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกย) รวมทั้ง สระสั้นทั้ง 4 ตัว คือ อำ ใอ ไอ เอาเช่น ตาดำชมเชยคนหุงข้าวเหนียวในครัวไฟ
  • คำตาย คือคำไม่มีตัวสะกดที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ในแม่ ก กา (ยกเว้น อำใอ ไอเอา) และคำที่มีตัวสะกด ในแม่ กก กด กบ เช่น นกกะหรอด กับนกกะปูด จิกพริก (ในการแต่งโคลงทุกชนิด ใช้คำตายแทน เอก ได้)

คำนำ

คำนำ คือคำที่ใช้กล่าวขึ้นต้น สำหรับเป็นบทนำ ในคำประพันธ์ เป็นคำเดียวบ้าง เป็นวลีบ้าง เช่น เมื่อนั้น บัดนั้น โฉมเฉลา น้องเอ๋ยน้องรัก รถเอ๋ยรถทรง ครานั้น สักวา ฯลฯ บางทีก็ใช้คำนามตรงๆ เหมือนอย่าง นามอาลปนะ เช่น สุริยา พระองค์ ภมร ดวงจันทร์ ฯลฯ ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
ปทุมาโสภาหมดจดสดสี
เกิดในใต้ตมวารีแต่ไร้ราคีเปือกตม
ฯลฯ
ภมรสุนทรมธุรสถ้อยหรรษา
กลั่นกล่าวเร้าดวงวิญญาณ์วาจาสิ้นลมคมใน
ฯลฯ

คำสร้อย

คำสร้อย คือคำที่ใช้สำหรับลงท้ายบทหรือท้ายบาทของคำประพันธ์ ซึ่งตามธรรมดา มีคำซึ่งมีความหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวนคำ ตามที่บัญญัติไว้ ในคำประพันธ์ จึงต้องเติมสร้อย เพื่อให้มีคำ ครบตามจำนวน และเป็นการเพิ่มสำเนียงให้ไพเราะ ในการอ่านด้วย คำสร้อยนี้ จะเป็นคำนาม คำวิเศษณ์ คำกริยานุเคราะห์ คำสันธาน หรือคำอุทาน ก็ได้ แต่ถ้าเป็นคำอุทาน ที่มีรูปวรรณยุกต์ ต้องตัดรูปวรรณยุกต์ออก และไม่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ มิฉะนั้น จะขัดต่อการอ่านทำนองเสนาะ และในการใช้นั้น ควรเลือกคำที่ท่านวาง เป็นแบบฉบับไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
  • คำนาม เช่น พ่อ แม่ พี่
  • คำกริยานุเคราะห์ เช่น เทอญ นา
  • คำสันธาน เช่น ฤๅ แล ก็ดี
  • คำอุทาน เช่น ฮา แฮ เฮย เอย เวย รา อา นอ
  • คำวิเศษณ์ เช่น บารนี เลย
คำสร้อยนี้ ต้องเป็นคำเป็น จะใช้คำตายไม่ได้ และใช้เฉพาะบทประพันธ์ ชนิดโคลง และร่าย เท่านั้น

สุนทรียภาพของฉันทลักษณ์ไทย

คือ แง่ความงามของฉันทลักษณ์เป็นเครื่องยังให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ เกิดจากองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

สุนทรียรูป

ได้แก่ การเลือกใช้รูปแบบของคำประพันธ์ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและอารมณ์ที่ผู้แต่งต้องการสื่อ รวมทั้งความถูกต้องตามแบบแผนของคำประพันธ์ที่เลือกด้วย

สุนทรียลีลา

คือ แง่งามในด้านกระบวนการพรรณนา ซึ่งมีอยู่ 4 กระบวน คือ
  1. เสวรจนี กระบวนการชมความงามทั้งของตัวละครและสิ่งต่างๆ
  2. นารีปราโมช กระบวนการเล้าโลมเกี้ยวพาราสีหรือพูดให้เพลิดเพลิน
  3. พิโรธวาทัง กระบวนการตัดพ้อ โกรธขุ่นเคือง เยาะเย้ย เหน็บแนม
  4. สัลลาปังคพิไสย กระบวนการคร่ำครวญ โศกเศร้า พร่ำเพ้อ อาลัยอาวรณ์

สุนทรียรส

คือ แง่งามด้านอารมณ์สะเทือนใจ อันเกิดจากกระบวนการพรรณนา และกลวิธีการประพันธ์ที่เหมาะสม มีอยู่ 9 รส คือ
  1. สิงคารรส ( รสแห่งความรัก )
  2. หาสยรส ( รสแห่งความตลกขบขัน )
  3. กรุณารส ( รสแห่งความเมตตากรุณา )
  4. รุทธรส ( รสแห่งความโกรธ )
  5. วีรรส ( รสแห่งความกล้าหาญ )
  6. ภยานกรส ( รสแห่งความกล้า )
  7. วิภัจฉารส ( รสแห่งความเกลียดชัง ขยะแขยง )
  8. อัพภูตรส ( รสแห่งความพิศวง อัศจรรย์ )
  9. สันตรส ( รสแห่งความสงบ เยือกเย็น บรสุทธิ์ )

วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

สังข์ทอง

สังข์ทอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีลักษณะของละครนอก มีตัวละครที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เจ้าเงาะซึ่งคือพระสังข์ กับนางรจนา เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและเป็นนิยม จึงมีการนำเนื้อเรื่องบางบทที่นิยม ได้แก่ บทพระสังข์ได้นางรจนา เพื่อนำมาประยุกต์เป็นการแสดงชุด รจนาเสี่ยงพวงมาลัย

 

ที่มา

สังข์ทองเป็นเรื่องที่ได้มาจากสุวรรณสังขชาดก เป็นหนึ่งใน ชาดกพุทธประวัติ เป็นนิทานพื้นบ้านในภาคเหนือและภาคใต้โดยที่สถานที่ที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องในสังข์ทอง กล่าวคือเล่ากันว่า
  • เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองท้าวสามล อยู่ในบริเวณใกล้วัดมหาธาตุเนื่องจากมีลานหินเป็นสนามตีคลีของพระสังข์
  • ส่วนในภาคใต้ เชื่อว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามล มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า "เขาขมังม้า" เนื่องจากเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะได้ขี่ม้าข้ามภูเขานั้นไป
แต่บางข้อมูลสันนิษฐานว่า สังข์ทอง นั้นได้รับอิทธิพลมาจากนิทานพื้นบ้านของชวา ที่มีเนื้อเรื่องคล้ายกัน ซึ่งหอยชนิดที่เป็นหอยสงข์ให้สังข์ทองซ่อนตัวอยู่นั้น คือ หอยสังข์ชนิด Syrinx aruanus ซึ่งเป็นหอยที่พบได้ในทะเลแถบชวา-มลายู นับเป็นหอยฝาเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ถึงขนาดที่เด็กทารกสามารถลงไปในนอนในนั้นได้ และมีเปลือกสีทอง

เนื้อเรื่องย่อ

ณ เมืองยศวิมลนคร อันมีท้าวยศวิมลเป็นเจ้าเมือง พระมเหสีจันเทวีได้คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์ จึงถูกพระนางจันทา มเหสีรอง ใส่ร้ายว่าเป็นกาลีบ้านเมือง จนถูกขับออกจากเมืองไปอยู่กระท่อมตายายที่ชายป่า จนกระทั่งพระสังข์ที่ซ่อนอยู่ในหอย ได้ออกมาพบแม่ สร้างความยินดีกับพระนางจันเทวีมากข่าวล่วงรู้ไปถึงนางจันทา จึงได้ส่งคนมาจับพระสังข์ไปถ่วงน้ำ แต่ท้าวภุชงค์พญานาคราชช่วยเอาไว้ และส่งให้ไปอยู่กับ นางพันธุรัต พระสังข์รู้ว่านางพันธุรัตเป็นยักษ์จึงขโมยรูปเงาะ ไม้เท้า เกือกแก้ว เหาะหนีมาอยู่บนเขา นางพันธุรัตตามมาทันแต่ ไม่สามารถขึ้นไปหาพระสังข์ได้ จึงได้มอบมนต์มหาจินดา เรียกเนื้อเรียกปลาให้แก่พระสังข์ก่อนที่จะอกแตกสิ้นใจตายที่เชิงเขา นั่นเอง พระสังข์เหาะมาจนถึงเมืองสามล ท้าวสามลและนางมณฑากำลังจัดพิธีเลือกคู่ให้ธิดาทั้งเจ็ด แต่รจนาพระธิดาองค์สุดท้อง ไม่ยอมเลือกใครเป็นคู่ ท้าวสามลจึงให้คนไปตามเจ้าเงาะมาให้เลือก รจนาเห็นรูปทองที่ซ่อนอยู่ในรูปเงาะจึงเสี่ยงมาลัยไปให้ สร้างความพิโรธให้ท้าวสามาลจึงถึงกับขับไล่รจนาให้ไปอยู่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะท้าวสามลหาทางแกล้งเจ้าเงาะ โดยการให้ไปหาเนื้อหาปลาแข่งกับเขยทั้งหก เจ้าเงาะให้มนต์ที่นางพันธุรัตให้ไว้เรียกเนื้อ เรียกปลามารวมกันทำให้หกเขยหาปลาไม่ได้ จึงต้องยอมตัดปลายหูและปลายจมูกแลกกับเนื้อและปลาท้าวสามลพิโรธมากจนถึงกับคิดหาทางประหารเจ้าเงาะ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องหาทางช่วยโดยการลงมาท้าตีคลีชิงเมือง กับท้าวสามล ท้าวสามลส่งหกเขยไปสู้ก็สู้ไม่ได้ จึงต้องยอมให้เจ้าเงาะไปสู้แทน เจ้าเงาะถอดรูปเป็นพระสังข์และสู้กับพระอินทร์ จนชนะ ท้าวสามลจึงยอมรับพระสังข์กลับเข้าเมืองและจัดพิธีอภิเษกให้ พระอินทร์ไปเข้าฝันท้าวยศวิมล เพื่อบอกเรื่องราวทั้งหมด ท้าวยศวิมลจึงออกตามหาพระนางจันเทวีจนพบ และได้เดินทาน ไปเมืองสามลนครเพื่อพบพระสังข์ โดยพระนางจันเทวีได้ปลอมเป็นแม่ครัวในวังและได้แกะสลักเรื่องราวทั้งหมดบนชิ้นฟัก ให้พระสังข์เสวย ทำให้พระสังข์รู้ว่าแม่ครัวคือพระมารดานั่นเอง พระสังข์และรจนาจึงได้เสด็จตามท้าวยศวิมลและพระนาง จันเทวีกลับไปครองเมืองยศวิมลสืบไป

 

บทละคร

มีทั้งหมด ๙ ตอนดังนี้
๑.กำเนิดพระสังข์
๒.ถ่วงพระสังข์
๓.นางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์
๔.พระสังข์หนีนางพันธุรัตน์
๕.นางรจนาเลือกคู่
๖.พระสังข์ได้นางรจนา
๗.ท้าวสามลให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ
๘.พระสังข์ตีคลี
๙.ท้าวยศวิมลตามพระสังข์