ความเป็นมาของกาพย์
กาพย์ มีที่มาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นคำประพันธ์เดิมของไทย หรือรับมาจากชาติอื่น ตำรากาพย์เก่าแก่ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ กาพย์สารวิลาสินี และ กาพย์คันธะ แต่งเป็นภาษาบาลี ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง แต่สันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในล้านนาสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และเปลี่ยนแปลงมาจากกาพย์มคธเป็นกาพย์ไทยโดยบริบูรณ์ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา
การจำแนกชนิดของกาพย์
กาพย์ในคัมภีร์กาพย์
ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและกาพย์คันถะ กำหนดคำประพันธ์ชนิด กาพย์ ไว้ ๘ ชนิด คือ กาพย์พรหมคีติ กาพย์มัณฑุกคติ กาพย์ตุรงคธาวี กาพย์มหาตุรงคธาวี กาพย์กากคติ ในกาพย์สารวิลาสินี และกาพย์ตรังควชิราวดีหรือกาพย์ตรังคนที กาพย์มหาตรังคนที และกาพย์ทัณฑิกา ในกาพย์คันถะนอกจากนี้ใน ประชุมลำนำ ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ได้แสดงกาพย์อีกชนิดหนึ่งชื่อ กาพย์ภุชงคลิลา มาจากคัมภีร์กาพย์สารจินดา
กาพย์ที่นิยมแต่งกันทั่วไป
กาพย์ที่กวีนิยมใช้ในวรรณกรรม มี 3 ชนิด คือ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และ กาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกว่ากาพย์ดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในตำรากาพย์เลย นอกจากนี้ กาพย์ทั้ง 9 ชนิดในตำรากาพย์ก็ไม่ปรากฏในวรรณกรรมเช่นกันกาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่
- พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงประดิษฐ์กาพย์ขึ้นใหม่เพื่ออธิบายประกอบภาพเรื่อง ศรีธนญชัย ฝีมือวาดภาพของ เหม เวชกร เรียกว่า กาพย์ธนัญชยางค์ ซึ่งทรงประทานคำอธิบายว่าคือ กาพย์สุรางค์คนางค์ ๒๘ เดิมนั่นเอง เพียงแต่เพิ่มเติมอีก 4 คำและเพิ่มสัมผัส กาพย์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒
- ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้ประดิษฐ์กาพย์ใหม่ใน เพื่อนแก้วคำกาพย์ ชื่อ กาพย์ดอกแคร่วง โดยดัดแปลงจาก เพลงเหย่ย หรือ เพลงดอกแคร่วง
- ในสมุดไทยเรื่อง หอยสังข์ ปรากฏ กาพย์นางกราย ๒๓ ซึ่งเป็นกาพย์ผสมระหว่ง กาพย์สุรางคนางค์ และกาพย์ยานี เป็นกาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่
การใช้กาพย์ในวรรณกรรม
วรรณกรรมที่แต่งด้วยกาพย์เพียงอย่างเดียว
- กลอนสวด เป็นวรรณกรรมที่แต่งด้วย กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ สลับกันไปตลอดเรื่อง เช่น สังข์ศิลป์ชัย พระรถเมรี สุบินกุมาร พระมาลัย พระไชยสุริยา พระสุธนมโนห์รา ฯลฯ
- กาพย์เห่กล่อมพระบรรทม ใช้ขับร้องเห่กล่อมพระราชโอรสและพระราชธิดา มีลักษณะเป็นกาพย์ยานี แต่วรรคหลังบางวรรคอยู่ระหว่าง ๕ - ๗ คำ
วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งร่วมกันคำประพันธ์ประเภทอื่น
- กาพย์แต่งร่วมกับโคลง กวีใช้ กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์ แต่งร่วมกับโคลงสี่สุภาพ แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ และกาพย์ขับไม้ห่อโคลง
- กาพย์แต่งร่วมกับฉันท์ กวีใช้ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ แต่งร่วมกับฉันท์มาตั้งแต่โบราณ และเรียกวรรณกรรมนั้นว่า คำฉันท์ วรรณกรรมคำฉันท์ที่เก่าที่สุดอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ และฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ส่วนตัวอย่างฉันท์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้แก่ อิลราชคำฉันท์ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นต้น
- กาพย์แต่งร่วมกับร่าย กวีนำเอากาพย์ยานีและกาพย์ฉบังมาแต่งสลับกับร่ายยาวเป็นบทสำหรับพากย์หนังใหญ่ และพากย์โขน โดยใช้กาพย์เป็นบทพากย์ และใช้ร่ายเป็นบทเจรจา เรียกว่าวรรณกรรม คำพากย์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
วรรณกรรมที่ใช้กาพย์แต่งแทรก
- คำหลวง วรรณกรรมคำหลวงของไทยมี ๕ เรื่องได้แก่ มหาชาติคำหลวง พระมาลัยคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนลคำหลวง และลิลิตคำหลวง ซึ่งนักปราชญ์ราชกวีได้ร่วมกันรจนาขึ้น จึงมักบรรจุคำประพันธ์ทุกชนิดในวรรณกรรมคำหลวง รวมทั้งกาพย์ด้วย
- กวีวัจนะ เป็นชื่อเรียกพระนิพนธ์เรื่อง สามกรุง ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีลักษณะการนำเอาฉันทลักษณ์ไทยทุกชนิดมาแต่งรวมกัน
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
กวีที่ได้รับยกย่องว่าสร้างสรรค์ผลงานด้านกาพย์มากที่สุดคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง กรมพระราชวังบวรฯ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ งานพระราชนิพนธ์มี ๘ เรื่อง คือ กาพย์เห่เรือ ๔ บท กาพย์เห่เรื่องกากี ๓ ตอน กาพย์เห่สังวาสและเห่ครวญ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง นันโทปสันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง และเพลงยาว ในบรรดาพระราชนิพนธ์เหล่านี้ ทรงใช้กาพย์เป็นหลักถึง ๕ เรื่องกาพย์ที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงใช้มีเพียงชนิดเดียวคือ กาพย์ยานี ๑๑ ซึ่งทรงเลือกใช้คำได้อย่างเด่น ทำให้เกิดความไพเราะ เสนาะหู ชวนฟัง นอกจากนี้ยังทรงเพิ่มสัมผัสสระในคำที่ ๒ - ๓ ของวรรคแรก และคำที่ ๓ - ๔ ของวรรคหลังอย่างเป็นระบบทำให้เกิดจังหวะอ่านรับกันและเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้น
ตัวอย่างลีลากาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
งามทรงวงดั่งวาด | งามมารยาทนาดกรกราย | |
งามพริ้มยิ้มแย้มพราย | งามคำหวานลานใจถวิล |
แต่เช้าเท่าถึงเย็น | กล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ | |
ชายใดในแผ่นดิน | ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ | |
กาพย์เห่สังวาส |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น