วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

พระอภัยมณี


พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๒๓๖๖ และแต่งๆ หยุดๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. ๒๓๘๘ รวมเวลามากกว่า ๒๐ ปี
เนื้อเรื่องของ พระอภัยมณี ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครพระอภัยมณี นับแต่อายุได้ ๑๕ ปีและออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีไทยอื่นๆ แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามา มิใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ การเป่าปี่ ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น เขากับน้องชายคือ ศรีสุวรรณ ระเหเร่ร่อนไปจนเจอกับสามพราหมณ์ ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป มีบุตรชายชื่อสินสมุทร พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยังเกาะแก้วพิสดาร เขามีบุตรกับอมนุษย์อีกครั้งคือกับนางเงือก ได้บุตรชายชื่อสุดสาคร ต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือนางสุวรรณมาลี แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้เมื่อ นางละเวงวัณฬา ลูกสาวเจ้ากรุงลังกาซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสาวสวย ตกหลุมรักกับพระอภัยมณีเสียเอง หลังสงคราม พระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีกับนางละเวงออกบวชด้วย เรื่องราวในช่วงหลังของ พระอภัยมณี เป็นการผจญภัยของรุ่นลูกๆ ของพระอภัยมณี โดยมีสุดสาครกับนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวของสุดสาครโดยเฉพาะในช่วง กำเนิดสุดสาคร (พระอภัยมณี ตอนที่ ๒๔-๒๕) นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากอีกชุดหนึ่ง
พระอภัยมณี จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องของพระอภัยมณีแหวกประเพณีของวรรณคดีในยุคเก่า มีจินตนาการล้ำยุคอยู่มากมาย และมีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง ความเป็นนักคิดยุคใหม่ของผู้ประพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี นักวิชาการจำนวนมากพากันศึกษากลอนนิทาน พระอภัยมณี เพื่อค้นคว้าหาแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงแนวคิดของสุนทรภู่กับวรรณกรรมโบราณ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุคใหม่ของบรรดานักเดินเรือที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคการค้าสำเภา นอกจากนี้ แนวคิดที่สุนทรภู่สอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมาก เพราะผู้คนล้วนใช้บทกลอนเหล่านั้นเป็นคติสอนใจ เช่น บทกลอนในช่วงที่พระฤๅษีสอนสุดสาคร เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ พระอภัยมณี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยโรงพิมพ์ของหมอสมิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมของเรื่องมีมากขนาดที่หมอสมิทสามารถจำหน่ายนิทานคำกลอนเรื่องนี้ขายดิบขายดีจนมีเงินสร้างตึกได้ ในยุคต่อมา มีการดัดแปลงและถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นนี้ออกไปในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องเล่าร้อยแก้ว การ์ตูน รวมทั้งภาพยนตร์ และละคร บทกลอนหลายช่วงในเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในแบบการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคติสอนใจที่ผู้คนทั่วไปจดจำกันได้

ประวัติ

ไม่มีที่ใดบันทึกไว้ชัดเจนว่า สุนทรภู่เริ่มแต่ง พระอภัยมณี ขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการพิเคราะห์สำนวนกลอนและการกล่าวอ้างถึงในผลงานชิ้นอื่นๆ ของสุนทรภู่ นักวิชาการคาดว่าสุนทรภู่น่าจะเริ่มแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อคราวต้องโทษติดคุก (คาดว่าประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๓๖๖) โดยค่อยแต่งทีละเล่มสองเล่มเรื่อยไป และยังแต่งๆ หยุดๆ เป็นหลายครั้ง ในตอนแรกเขียนจบไว้ที่ ๔๙ เล่มสมุดไทย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีรับสั่งให้แต่งต่อ ในที่สุดจึงได้ความยาวถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย ทว่านักวรรณคดีบางท่านเสนอความเห็น ว่าในเล่มหลังๆ อาจไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่เพียงคนเดียว คาดว่าสุนทรภู่หยุดแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๘๘ หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ใช้เวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้นมากกว่า ๒๐ ปี


ลักษณะคำประพันธ์


คำประพันธ์ในเรื่อง พระอภัยมณี เป็นกลอนสุภาพทั้งหมด ด้วยเป็นความถนัดอย่างพิเศษของกวีผู้นี้ ภาษาที่ใช้มีความเรียบง่ายตามแบบฉบับของสุนทรภู่ มีสัมผัสในไพเราะงดงามโดยตลอด ทำให้เป็นที่นิยมอ่านเรื่อยมาแม้ในปัจจุบัน
พระอภัยมณี ตามฉบับพิมพ์ของหอพระสมุด มีความยาวทั้งสิ้น 24,500 คำกลอน คิดเป็นจำนวนคำตามวจีวิภาคได้ 392,000 คำ[3] นับเป็นหนังสือกลอนขนาดมหึมา มีโครงเรื่องย่อยๆ แทรกไปตลอดทาง คือจากเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่เหตุและผลอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะงานเขียนที่สามารถเขียนไปได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ดีอาจนับเหตุการณ์สำคัญหรือไคลแมกซ์ของเรื่องได้ ในตอนทัพลังกากับทัพพระอภัยมณีรบกันจนถึงขั้นเด็ดขาด ต้องแหลกลาญกันไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่สุนทรภู่ก็สามารถคลี่คลายไคลแมกซ์นี้ได้อย่างสวยงาม
เรื่อง พระอภัยมณี แบ่งบทประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 64 ตอน มีชื่อตอนดังต่อไปนี้
  1. พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
  2. นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
  3. ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
  4. ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
  5. ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
  6. ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
  7. ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
  8. อภิเษกศรีสุวรรณ
  9. พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
  10. พระอภัยมณีได้นางเงือก
  11. นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
  12. พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
  13. พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
  14. พระอภัยมณีเรือแตก
  15. สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
  16. สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
  1. ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
  2. พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
  3. พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
  4. สินสมุทรรบกับอุศเรน
  5. พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
  6. พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
  7. พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
  8. กำเนิดสุดสาคร
  9. สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
  10. อุศเรนตีเมืองผลึก
  11. เจ้าละมานตีเมืองผลึก
  12. สุดสาครตามพระอภัยมณี
  13. ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
  14. พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
  15. พระอภัยมณีพบนางละเวง
  16. ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
  1. ย่องตอดสะกดทัพ
  2. นางละเวงคิดหย่าทัพ
  3. พระอภัยมณีติดท้ายรถ
  4. พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
  5. ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกทำเสน่ห์
  6. นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
  7. นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
  8. สุดสาครถูกเสน่ห์
  9. นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
  10. หัสไชยแก้เสน่ห์
  11. นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
  12. กษัตริย์สามัคคี
  13. นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
  14. พระอภัยมณีกลับเมือง
  15. อภิเษกสินสมุทร
  16. นางเสาวคนธ์หนี
  1. นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
  2. นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
  3. สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
  4. พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
  5. มังคลาครองเมืองลังกา
  6. มังคลาชิงโคตรเพชร
  7. มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
  8. หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
  9. สุดสาครรบกับมังคลา
  10. นางละเวงช่วยนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
  11. พระอภัยมณี ศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
  12. พระอภัยมณีรบกับมังคลา
  13. สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
  14. พระอภัยมณีเข้าเมืองลังกา
  15. อภิเษกหัสไชย
  16. พระอภัยมณีออกบวช
หลังเหตุการณ์พระอภัยมณีออกบวช มีผู้แต่งเรื่องต่อออกไปอีก เช่น นางเงือกได้ตัดหางและกลายเป็นมนุษย์ แต่นั่นไม่ใช่งานประพันธ์ของสุนทรภู่ ในฉบับพิมพ์ของหอพระสมุดจึงย่อเนื้อหาส่วนหลังเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วบรรจุไว้ท้ายเล่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น